ขอยกย่อง ผวจ ชร ณรงค์ศักดิ์ สุดยอดผู้บริหาร
ที่ไม่นึกว่าจะได้เจอในระบบราชการไทย
ลองคิดภาพตามนะครับ งานนี้ต่อสู้กับภัยธรรมชาติที่ควบคุมไม่ได้ ต้องทำอย่างเร่งด่วนระดับเสี้ยววินาทีแข่งกับเดดไลน์คือ 13 ชีวิต เป็นเดิมพัน ต้องบริหารทีมงานจากหลายที่มาหลากเชื้อชาติกว่าหมื่นคน ท่ามกลางความกดดันของสายตาที่จับจ้องจากทั่วโลกหลายร้อยล้านคน ภายใต้ข้อมูลมหาศาลแสนสับสนที่สื่อมวลชนรายงานออกไป
ใครเป็นผู้บริหาร บอกได้คำเดียวว่า นี่คืองานระดับ The Impossible Job!
แต่แล้วเราก็ได้เห็น นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย มาเป็นผู้บังคับบัญชาการ ซึ่งเหตุผลที่ท่านเป็นผู้สั่งการสูงสุดของภารกิจนี้ แทนที่จะเป็นหน่วยงานอื่นๆ อย่างทหารหรือตำรวจ เพราะตามกฎหมายเมื่อจังหวัดได้ประกาศภัยพิบัติ ผู้ว่าฯ จะรับหน้าที่บัญชาการโดยปริยาย ซึ่งเชียงรายประกาศภัยพิบัตินับตั้งแต่วันแรกที่เกิดเหตุแล้ว
ช่วงแรกผมยังแปลกใจกับความตรงไปตรงมา เอาจริงเอาจัง ทุ่มเทตลอด 24 ชั่วโมงของท่าน แต่พอนานเข้า ผมเริ่มเห็นวิธีคิดในการบริหารงานที่น่าสนใจมาก
ในฐานะคนที่ดูการแถลงข่าวของท่านทุกวัน ท่านเป็นคนคิดเป็นระบบ เด็ดขาด และพูดกระชับชัดเจน เหมือนฟังซีอีโอบริษัทใหญ่ๆ แสดงวิสัยทัศน์หรือกลยุทธ์ประจำปี ทุกครั้งท่านจะเน้นย้ำเป้าหมายสำคัญที่สุดก่อน แล้วค่อยแจกแจงแนวทางการช่วยเหลือที่มากล้นออกเป็นข้อๆ เข้าใจง่าย พร้อมสรุปความคืบหน้าแต่ละแนวทางอย่างชัดเจน ที่สำคัญคือ ไม่กลัวที่จะต่อว่า หรือตักเตือนคนที่ออกนอกลู่นอกทาง แถมยังปิดจบด้วยมุมมองเชิงบวก
ผมลองลงรายละเอียดการบริหารของผู้ว่าฯ คนนี้เท่าที่สังเกตเห็นครับ
1. เป้าหมายชัด – Action Plan ชัด
ภารกิจนี้มีแผนงานชัดเจนมาก อธิบายสั้นๆ แป๊บเดียวก็เข้าใจ ท่านให้สัมภาษณ์ทุกวันว่า แผนการมีแค่ 4 แนวทาง โดยจัดลำดับชัดว่า ทางหลัก-สูบน้ำออกเปิดทางซีลเข้าพื้นที่ ทางรอง-หาโพรงหรือปล่อง ทางเลือกคือ 1. เจาะผนังถ้ำ และทางเลือกคือ 2. ขยายปลายถ้ำ โดยจะย้ำหนักแน่นว่า การสูบน้ำเปิดทางให้หน่วยซีลเข้าถึงตัวน้องๆ คือแนวทางที่สำคัญที่สุด ในขณะที่แนวทางอื่นก็ไม่เคยทิ้ง แต่ทำงานคู่ขนานกันไป
Action Plan ที่ชัดเจนและเข้าใจง่าย ทำให้แบ่งหน้าที่และหัวหน้าที่รับผิดชอบแต่ละแนวทางง่ายขึ้น การสื่อสารก็ทำได้สะดวก ความคืบหน้าแต่ละแนวทางในแต่ละวันจึงกระชับมาก ทำได้แค่ไหน หรือทำไม่ได้เพราะอุปสรรคอะไร ลองฟังท่านสรุปแต่ละวันดูนะครับ จะเห็นภาพเลย
ระบบอีกอย่างที่เห็นชัดมากคือ การลงทะเบียนเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ทำงานหลายพันคน ใครขึ้นตรงต่อใครต้องรายงานหัวหน้างานคนนั้น ใครไม่ลงทะเบียนห้ามเข้า มีการเซ็นชื่อเข้า-ออกทุกครั้ง เพื่อป้องกันการตกหล่น และทำงานทับซ้อนกัน
2. ทดลอง เรียนรู้ และทำซ้ำ
ที่ผมชอบที่สุดคือ การซักซ้อมการเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยในวันเสาร์ที่ผ่านมา ฟังดูอาจจะเฉยๆ แต่ผมคิดว่า เราไม่ได้เห็นการทำงานอย่างเป็นระบบรอบคอบแบบนี้มากนักในประเทศไทย ท่านให้เหตุผลที่ต้องซ้อม เพราะตอนนี้คนเอาแต่คิดว่าต้องหาให้เจอ แต่ท่านมองข้ามช็อตว่า ถ้าเจอจริงๆ ล่ะ เราต้องทำอย่างไร เราดูแลน้องๆ ให้ปลอดภัยได้ไหม
อุตส่าห์เจอน้องๆ แต่ถ้าดูแลพวกเขาไม่ได้ ทุกอย่างก็จบ
ท่านสรุปตอนท้ายของวันซ้อมแบบนี้ครับว่า การซักซ้อมดังกล่าวยังเจอปัญหาอยู่ จึงเตรียมที่จะปรับปรุงระบบและจัดระเบียบให้พื้นที่มีความพร้อมในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยมากขึ้น
ที่สำคัญคือ ทีมงานได้ทำคลิปการดำเนินการทั้งหมด เพื่อเป็นบทเรียนที่มีประโยชน์ เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่เกิดในลักษณะนี้ครั้งแรกในเมืองไทย ทุกหน่วยงานต่างบูรณาการทำงานกันอย่างเต็มที่
ย้ำอีกครั้งครับว่า การซ้อมนี้มีการถ่ายคลิปเพื่อเป็นบทเรียน บูรณาการการทำงานในครั้งต่อไป ซึ่งล่าสุดรถสื่อมวลชนที่จอดตรงถนนได้ถูกเคลียร์หมดแล้ว เปิดทางให้ขนย้ายน้องๆ ได้สะดวกหากพบเจอ
3. รู้ว่าอะไรดีหรือไม่ดีสำหรับองค์กร
ปีเตอร์ เอฟ ดรักเกอร์ ปรมาจารย์ด้านการบริหารจัดการชาวอเมริกัน เคยเขียนบทความชื่อ What Makes an Effective Executive โดยบอกว่า ผู้บริหารที่บริหารงานได้ประสิทธิภาพไม่จำเป็นต้องมีบุคลิกผู้นำแบบที่เราเห็นในหนัง แต่จริงๆ แล้วพวกเขาจะทำงานบนพื้นฐานไม่กี่ข้อเท่านั้น ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ตอบตัวเองได้ชัดว่า “อะไรที่ต้องทำให้สำเร็จ” และ “อะไรคือสิ่งที่ดีสำหรับองค์กร”
ท่านผู้ว่าฯ จะแยกแยะคัดกรองทุกแนวทาง ทุกความช่วยเหลือ ทุกอุปกรณ์ที่ส่งเข้ามาครับว่าอันไหนเหมาะสม อันไหนใช้ได้จริงก็จะใช้ อันไหนไม่ได้ก็ต้องบอกว่าไม่ได้ ท่านให้สัมภาษณ์อย่างเด็ดขาดบ่อยๆ ว่า “ใครอยากมาก็มาได้ แต่ต้องมาถกหลักการกันก่อนว่าสิ่งที่นำเสนอทำได้หรือไม่ หรือเป็นไอเดียที่จะถ่วงทีมให้ช้าลง ไม่ใช่ว่าคนที่อยากช่วยจะมีประโยชน์ทั้งหมด ตอนนี้ความช่วยเหลือตอนนี้เยอะมาก มีหุ่นยนต์ดำน้ำเป็นสิบจอดรอหน้าถ้ำ แต่มันใช้ไม่ได้ก็คือใช้ไม่ได้”
การรู้ว่าอะไรดีกับองค์กร ทำให้การทำงานแน่วแน่ ไม่ไขว้เขว ก็อย่างที่ท่านบอกละครับว่า “ผมขอบคุณทุกความหวังดีนะครับ แต่บางความช่วยเหลือมันอาจจะไม่เหมาะกับหน้างานจริงๆ”
4. โฟกัสที่โอกาส มากกว่าปัญหา
ปีเตอร์ เอฟ ดรักเกอร์ บอกครับว่า ผู้นำที่ดีคือคนที่ไม่ได้แค่แก้ปัญหา แต่พลิกปัญหานั้นเป็นโอกาส ตัวอย่างหนึ่งที่ผมชอบมากของท่านผู้ว่าฯ คือวิธีการจัดการกับปัญหาสื่อนำเสนอข้อมูลกระจัดกระจาย ข่าวมั่วข่าวปลอมเยอะ แทนที่จะไล่ตักเตือนทีละสื่อ ทีมงานของศูนย์ปฏิบัติการดึงหน่วยงานประชาสัมพันธ์เข้ามาช่วยซะเลย แล้วส่งเป็น press release ให้สื่อทุกวัน ส่งแผนที่อินโฟสวยงาม พร้อมกับเปิด LINE account ตัวใหม่ @ข่าวจริงประเทศไทย สำหรับสื่อสาร เป็นการบอกว่าศูนย์กลางของข้อมูลต้องมาจากที่นี่เท่านั้น
ปัญหาข่าวมั่วเริ่มหมดไป ด้านนักข่าวส่วนใหญ่ก็ชอบมากครับ เพราะทำให้เข้าใจข้อมูลตรงกัน เชื่อถือได้ และไม่ต้องเสียเวลาไปนั่งรวบรวมข้อมูล เรียกว่ายิงกระสุนนัดเดียวได้นกสองตัว
5. เห็นอกเห็นใจ รับฟังปัญหา
แม้จะเด็ดขาด ตรงไปตรงมา แต่ผมก็เห็นความเห็นใจของท่านผู้ว่าอยู่บ้างเนืองๆ ท่านบอกว่า ตนไปเยี่ยมญาติของน้องๆ วันละ 2 ครั้ง เพื่อพูดคุยและรับฟังปัญหา อยากได้อะไรก็จะจัดมาให้ เช่น กินมังสวิรัติ อยากได้เตียง-ผ้าห่มเพิ่ม หรือจังหวะหนึ่งที่กำลังแถลงข่าวแล้วเกิดฝนตก ท่านก็ถามนักข่าวว่า “จะหลบฝนก่อนไหม” สร้างความประทับใจให้กับกองทัพสื่อมวลชนได้ไม่น้อย
6. ทำให้เห็น ไม่ใช่ดีแต่พูด
คำพูดแรกที่สะดุดหูคนทั้งประเทศคือ “ใครที่บอกว่าไม่เสียสละพอที่จะทำงาน ใครจะกลับบ้านไปนอนกับลูกกับเมีย เชิญเซ็นชื่อแล้วออกไปเลย ผมไม่รายงานใครทั้งสิ้น ใครจะทำงาน วันนี้ขอให้พร้อมทุกนาที ให้คิดว่าเขาเป็นลูกเรา”
อาจจะฟังดูแรง แต่พอเวลาผ่านไป เขาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ทำจริง ใส่ใจ และทุ่มเทขนาดไหน ไม่ใช่ดีแต่พูด
“มีคนถามว่า ทำไมผมต้องมายืนอยู่ตรงนี้ตลอด…มันเหมือนแม่ทัพ รบแล้วเรากำลังจะพ่ายแพ้ เราจะเสียพื้นที่ ถ้าแม่ทัพไม่ยืนอยู่ข้างหน้า ใครจะไปช่วยแม่ทัพรบ นั่นคือเหตุผลที่เราต้องสู้กันตลอด เราจะเหน็ดเหนื่อย อ่อนล้ายังไง เราก็จะสู้กันตลอด”
ผมไม่รู้ว่าตัวตนจริงๆ ท่านผู้ว่าเป็นคนอย่างไร หรือคนทำงานใกล้ชิดจะคิดกับท่านแบบไหน แต่จากการสังเกตการทำงานตลอดกว่า 10 วันที่ผ่านมา แม่ทัพคนนี้สอนบทเรียนการบริหารงานผมหลายอย่าง
คิดให้ชัด
วางแผนให้เคลียร์
ทำงานเป็นระบบ
แล้วทุ่มเททั้งตัวและหัวใจไปกับมัน
No comments:
Post a Comment