6/26/2018

นิทานก่อนลงทุน หุ้นห่านทองคำ VS หุ้นห่านไข่ทองคำ !!!

นิทานก่อนลงทุน หุ้นห่านทองคำ VS หุ้นห่านไข่ทองคำ !!!

นักลงทุนในตลาดทุกคนต่างมีความปรารถนาจากการลงทุนไม่ต่างกัน คือ “ต้องการผลตอบแทนที่ดี” ซึ่งหนึ่งในกลยุทธ์ที่หลายคนชื่นชอบ คือ การนำเงินไปลงทุนกับหุ้นพื้นฐานดีที่มีการจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ เสมือนการได้ผลตอบแทนจากห่านที่ออก “ไข่ทองคำ” เช่นเดียวกันกับนิทานเรื่อง…นิทานเรื่องอะไรนะ? “ห่านทองคำ” หรือ “ห่านไข่ทองคำ”? เรื่องไหนกันนะ?
สาเหตุที่เราต้องมาคุยกันเรื่อง “นิทาน” เกี่ยวกับห่าน และไข่ทองคำเป็นเพราะ ช่วงนี้ตลาดหุ้นไทยยังอยู่ในระดับพีค ดัชนียืนที่1,700จุดปลายๆ — 1,800 จุด เลยทำให้นักลงทุนหลายคน สนใจลงทุนใน “หุ้นปันผล” เพื่อนำเงินเข้าไปหลบภัยในแหล่งที่เชื่อมั่นได้ว่า จะไม่ทำให้เงินลงทุนได้รับผลกระทบมากนัก และยังได้รับผลตอบแทนที่มั่นคงจากการจ่ายเงินปันผลของหุ้นเหล่านั้น
อย่างไรก็ตามแม้นักลงทุนจะมีเป้าหมายการลงทุนในหุ้นปันผลเหมือนกัน แต่หลายคนก็ใช้คำนิยาม เรียกขานหุ้นที่ต่างกันไป บ้างก็เรียกหุ้นชนิดนี้ว่า เป็น“หุ้นห่านทองคำ” บ้างก็เรียกว่า “หุ้นห่านไข่ทองคำ” หรือแม้กระทั่งเรียกทั้งสองชื่อคละกันไปตามอารมณ์ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ที่มาของ “ห่านทองคำ” กับ “ห่านไข่ทองคำ”เป็นคนละเรื่องกัน
นิทานเรื่อง “ห่านไข่ทองคำ” หรือ “The Goose That Laid the Golden Eggs” นั้น เป็นหนึ่งในเรื่องที่เล่าขานมาจาก “นิทานอีสป” ซึ่งมีเนื้อหาว่า “สามีภรรยาชาวชนบทคู่หนึ่ง (บางท้องถิ่นเล่าว่าชายชาวชนบทรายหนึ่ง) มีห่าน (บางท้องถิ่นเล่าว่าเป็นแม่ไก่) ที่ออกไข่เป็นทองคำเป็นทองคำทุกวัน แต่อยู่มาวันหนึ่งสามีภรรยาคู่นี้ก็คิดขึ้นมาว่า ในท้องของห่าน จะต้องมีก้อนทองอยู่ข้างในแน่ๆ จึงได้ร่วมมือกันผ่าท้องห่านออกมา เพียงเพราะหวังว่า จะได้ก้อนทองคำอย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องรอให้ห่านออกไข่วันละฟองเหมือนที่เคย อย่างไรก็ตามเมื่อผ่าท้องห่านเสร็จแล้ว ทั้งสองกลับต้องพบกับความผิดหวัง เพราะในท้องห่านไม่มีทองคำที่พวกเขาคาดหวังอยู่เลย แถมห่านที่ออกไข่เป็นทองคำ กลับต้องมาตายลงไปด้วย”
นิทานเรื่อง “ห่านไข่ทองคำ” หรือ ห่านที่ออกไข่เป็นทองคำ จึงจบลงด้วยคติสอนใจที่ว่า “โลภมากจะลาภหาย”
ส่วนอีกเรื่อง คือ “ห่านทองคำ” หรือ “Golden Goose” นิทานเรื่องนี้ เป็นหนึ่งในเรื่องที่เล่าขานจากสองพี่น้องตระกูลกริมม์ คือ ยาค็อบ กริมม์ และวิลเฮล์ม กริมม์ นักวิชาการชาวเยอรมันซึ่งรวบรวมนิทานพื้นบ้านและเทพนิยายรวมถึงผลงานเกี่ยวกับวิวัฒนาการทางภาษาที่มีการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา ซึ่งนับว่าเป็นนักเล่านิทานที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคู่หนึ่งในยุโรป ทำให้เทพนิยายมากมายแพร่หลายไปทั่วโลก
โดยเนื้อหาของเรื่อง “ห่านทองคำ” มีใจความว่า “ครอบครัวหนึ่งมีลูกชาย3คน ซึ่งทั้งสามพี่น้องได้ถูกส่งไปตัดไม้ในป่า โดย “ลูกชายคนโต” ได้เดินทางออกไปคนแรก พร้อมขนเสบียงไปทั้งเค้กและไวน์ติดตัวไปด้วย ระหว่างทางเขาได้พบชายชราตัวเล็กผมสีเทาที่เข้ามาขอแบ่งปันอาหารด้วย แต่เขากลับไม่ยอมเจียดให้ และมุ่งหน้าเดินทางต่อไปเพื่อตัดต้นไม้ น่าเสียดายที่ลูกชายคนโตทำตามความตั้งใจไม่สำเร็จ เพราะประสบอุบัติเหตุจนต้องกลับบ้านไปก่อน จากนั้นเมื่อ “ลูกชายคนที่สอง” เดินทางเข้าไปตัดไม้ และได้พบกับชายชราที่เข้ามาขอแบ่งปันอาหาร แต่เขาไม่ยอมเจียดให้ ก็ประสบเหตุการณ์เช่นเดียวกับพี่ชายคนโต จนต้องกลับบ้านไปเช่นเดียวกัน
คราวนี้เมื่อลูกชายคนที่ 3 ชื่อ “ซิมเปิลตัน” (Simpleton) ถูกส่งออกไปตัดไม้บ้าง เขาก็ต้องพบชายชราเช่นเดียวกับพี่ชายทั้งสอง เพียงแต่ซิมเปิลตันได้แบ่งเสบียงให้ชายชราด้วยความเอื้ออาทร ด้วยเหตุนี้เอง ชายชราจึงได้ตอบแทนเขาด้วยการให้เขาไปที่ต้นไม้ที่เลือกไว้ และเมื่อซิมเปิลตันตัดต้นไม้นั้น ก็พบ “ห่านทองคำล้ำค่า”
เมื่อซิมเปิลตันอุ้มห่านทองคำเดินทางต่อไปเรื่อยๆจนถึงโรงแรมแห่งหนึ่ง ก็ได้พบกับลูกสาวคนโตของเจ้าของโรงแรม ซึ่งเมื่อนางเห็นเจ้าห่านก็รู้สึกต้องตาต้องใจอย่างมาก จึงพยายามจะดึงขนห่านทองคำออกมา แต่ทันใดนั้นเอง! เมื่อนางเอื้อมมือไปแตะโดนเจ้าห่าน มือของนางก็ติดแน่นอยู่กับตัวห่าน ดึงเท่าไรก็ไม่ออก
พอลูกสาวคนรองเห็นดังนั้น จึงรีบเข้ามาดึงพี่สาวคนโตหวังที่จะช่วยเหลือ แต่มือก็ติดแน่นกับตัวพี่สาวคนโตดึงเท่าไรก็ดึงไม่ออกเช่นกัน ลูกสาวคนสุดท้องจึงเข้ามาช่วยดึงพี่สาวคนรอง แต่ก็ต้องติดพ่วงกันไปอีกทอดหนึ่ง ดังนั้นซิมเปิลตันจึงจำใจต้องอุ้มห่านทองคำที่มีหญิงสาวสามคนติดอยู่ เดินทางต่อไปเรื่อยๆ อย่างไรก็ตามระหว่างเดินทางไปนั้นบาทหลวง ผู้ดูแลโบสถ์ และผู้ใช้แรงงานอีกสองคน พยายามจะเข้าไปช่วยคน แต่ทุกคนก็ประสบชะตากรรมเดียวกับ คือ ตัวติดกันไป จนกลายเป็นขบวนพาเหรดเกาะต่อเป็นแถวอย่างไม่ตั้งใจ ซิมเปิลตันจึงเดินทางต่อไปเรื่อยๆ กระทั่งผ่านเส้นทางที่จะไปยังปราสาท
ณ ปราสาทแห่งหนึ่ง มีพระราชาซึ่งอาศัยอยู่กับเจ้าหญิงองค์หนึ่ง ซึ่งไม่เคยหัวเราะมาก่อนเลยในชีวิต ดังนั้นพระราชาจึงมีการตั้งกติกาว่าหากใครทำให้เจ้าหญิงหัวเราะออกมา จะได้อภิเษกกับเจ้าหญิง แม้จะดูเป็นเรื่องที่ยากเย็น แต่เมื่อซิมเปิลตันกับห่านทองคำและคนเจ็ดคนเดินแถวผ่านมา พระธิดาที่ทอดพระเนตรมองทางหน้าต่างเห็นเข้าก็หัวเราะอย่างหนักจนน้ำหูน้ำตาไหล ซิมเปิลตันจึงถือว่าเป็นผู้ทำภารกิจสำเร็จ และได้แต่งงานกับพระธิดาครองอาณาจักรอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขจนชั่วนิรันด์…
เมื่อเล่านิทานทั้งสองเรื่องจบ นักลงทุนอาจจะพอเห็นได้ชัดขึ้นแล้วว่า ความหมายที่แท้จริงของ “หุ้นปันผล” น่าจะมาจากนิทานเรื่องแรก คือ “ห่านไข่ทองคำ”มากกว่า เพราะห่านชนิดนี้ สามารถออกไข่ ให้ผลตอบแทนงอกเงยแก่นักลงทุนได้ (ถ้าไม่ไปผ่าท้องมันเสียก่อน)
ส่วนนิทานเรื่อง “ห่านทองคำ” น่าจะเหมาะกับการเป็นตัวแทนของการเรียกชื่อ “หุ้นน้ำดี หรือ หุ้นพื้นฐาน” ซึ่งแน่นอน…หุ้นประเภทนี้อาจไม่มีไข่ทองคำ หรือ เงินปันผลให้สูงนัก แต่ก็เป็นหุ้นดี ที่ใครๆก็อยากได้ จนต้องต่อแถวเป็นขบวน และเมื่อเห็นหุ้นตัวนี้ในพอร์ต ก็ควรจะต้องมีความสุขหัวเราะจนน้ำหูน้ำตาไหลได้เหมือนกับเจ้าหญิง
อ่านนิทานสองเรื่องจบแล้ว…หวังว่านักลงทุนทุกท่านจะนอนหลับฝันดีในคืนนี้ มี “หุ้นห่านทองคำ” และ “หุ้นห่านไข่ทองคำ” สร้างผลตอบแทนให้พอร์ต สร้างความสุขดังเทพนิยายชั่วนิจนิรันด์ ...ข้อมูลจาก medium.com
ขอบคุณข้อมูลจาก http://rich-monk.blogspot.com/2018/06/vs.html

No comments: