5/11/2012

เสื้อยืด พิมพ์ซามาูไร ต้นตำรับ Made In Thailand


เสื้อยืด “Yu-Raku-Cho” ฝังตำนานแดนซามูไร ฝีมือต้นตำรับ2


กระแส เจป๊อปในเมืองไทย ถูกนำมาใช้ประโยชน์เชิงธุรกิจหลายรูปแบบ อย่างผู้ประกอบการธุรกิจแฟชั่นเสื้อยืด จำนวนมากนิยมหยิบภาพหรืออักษรญี่ปุ่นมาสกรีนเป็นลวดลาย เช่นเดียวกับแบรนด์ “ยูรัคโช” (Yu-Raku-Cho)
 นำสไตล์แดนซามูไรมาใช้เช่นกัน ทว่า มีจุดเด่นดีไซน์โดยต้นตำรับแท้ๆ พร้อมนำระบบสมาชิกมาเสริมการตลาดให้ยิ่งน่าสนใจ
ผู้อยู่เบื้องหลังธุรกิจ คือ เคนทาโร วาตานาเบ สามีชาวญี่ปุ่น และยุวธิดา ตันติเสรีรัตน์ ภรรยาชาวไทย ซึ่งเดิมทั้งสองเคยทำงานอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ก่อนตัดสินใจมาสร้างธุรกิจของตัวเองในประเทศไทย
Yu-Raku01
“เรา ฝันอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง เลยเลือกกลับมาบุกเบิกที่เมืองไทย เพราะญี่ปุ่น ต้นทุนเริ่มต้นสูง และคู่แข่งมาก ส่วนเหตุที่เลือกจะทำธุรกิจเสื้อยืด เพราะพี่เคน (สามี) ชอบงานออกแบบกราฟฟิก และมีเพื่อนรู้จักโรงงานผ้าผลิตเสื้อยืด อีกทั้ง ตอนอยู่ญี่ปุ่นเห็นเสื้อยืดผ้าแปลกๆ ลวดลายสวยๆ เมื่อรวมปัจจัยทุกอย่าง จึงคิดว่า น่าจะทำธุรกิจนี้ได้” ยุวธิดา เผยและเล่าให้ฟังต่อว่า
ใช้ทุนส่วนตัวประมาณ 2 แสนบาท ผลิตสินค้า และเปิดร้านขายในตลาดนัดสวนจตุจักร เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ทว่า ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่หวังไว้ เนื่องจากแบบเวลานั้น ยังเป็นสไตล์ญี่ปุ่นเรียบๆ ไม่โดดเด่นอย่างเห็นได้ชัด ประกอบกับขายได้แค่ 8 วันต่อเดือน ไม่คุ้มกับค่าเช่า จึง ย้ายมาเปิดร้านที่ ชั้น1 เจเจมอลล์ เมื่อประมาณหนึ่งปีครึ่งมาแล้ว โดยสร้างแบรนด์ใหม่ ชื่อ Yu-Raku-Cho พร้อมกับพลิกดีไซน์ใหม่ทั้งหมด
Yu-Raku04
ยุวธิดา อธิบายว่า หน้าที่ ออกแบบทั้งหมดเป็นของเคนทาโร ดีไซน์จะเน้นความเป็นญี่ปุ่นแท้ๆ ผสมผสานระหว่างสไตล์ร้อนแรง กับแบบคลาสสิก ซึ่งการออกแบบสไตล์ญี่ปุ่น โดยชาวญี่ปุ่นจริงๆ ทำให้เข้าใจในรายละเอียดลึกซึ้ง ภาพ ตัวอักษร หรือลวดลายทั้งหมดที่นำมาใช้สกรีน ล้วนมีเรื่องราวสามารถอธิบายที่มาที่ไปได้ ผ่านการศึกษาข้อมูลทางประวัติศาสตร์มาอย่างละเอียด
ทั้งนี้ ร้าน Yu-Raku-Cho ใช้ทุนเริ่มต้นประมาณ 3 แสนบาท เป็นค่าเช่า ค่าตกแต่งร้าน และผลิตสินค้า โดยช่วง 6 เดือน ยอดขายน้อยมาก เนื่องจากเวลานั้น เจเจมอลล์ ยังไม่เป็นที่นิยมของนักชอปปิ้ง จึงพยายามเพิ่มตลาด ด้วยวิธีแจกนามบัตรแนะนำสินค้าให้มากที่สุด รวมถึง ออกบูทตามแหล่งลูกค้าเป้าหมาย ช่วยให้มีลูกค้าเพิ่มมากขึ้น และเกิดการบอกต่อ จนยอดขายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถึงขณะนี้เกือบเจ็ดหลักต่อเดือน นับว่า โตสวนกระแสเศรษฐกิจชะลอตัว
Yu-Raku05
“เราค่อนข้างมั่นใจ ในตัวสินค้าอยู่แล้ว ทั้งคุณภาพผ้าและดีไซน์ ขอแค่ให้ลูกค้าได้เห็นสินค้า และลองใช้ ซึ่งหลังผ่าน 6 เดือนแล้ว ยอดขายเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง มีลูกค้าหลากหลาย ตั้งแต่อายุ 20-40 ปี ทั้งคนที่ชอบเกี่ยวกับญี่ปุ่น และคนที่ชอบเสื้อยืดลายแปลกๆ ยอดขาย 70% คือ ขายปลีกหน้าร้าน ส่วนอีก 30% มีตัวแทนรับไปขายส่งต่างประเทศ เช่น สหรัฐฯ สเปน อิตาลี และเมืองโอซาก้า ญี่ปุ่น” ยุวธิดา ระบุ
ในร้าน นอกจากสินค้าขายดีอันดับ1 คือ เสื้อยืด (ราคา 250 , 290 บ.) แล้ว ยังมีสินค้าแฟชั่นเกี่ยวกับญี่ปุ่นอีกหลายรายการ เช่น กางเกงยีนส์ เสื้อเชิ้ต และเครื่องแต่งกายแบบญี่ปุ่นแท้ๆ อย่างเสื้อคลุมหน้าร้อน หมวก และเข็มขัด ทำจากผ้าไหมเกียวโต เป็นต้น รวมแล้วมีมากกว่า 100 แบบ
Yu-Raku02
ในแง่การตลาด วิธีหนึ่งที่ร้าน Yu-Raku-Cho นำมาใช้อย่างได้ผล และน่าสนใจ คือ ระบบสมาชิก โดยให้ลูกค้าที่สนใจลงทะเบียนสมัครได้ฟรี ซึ่งสมาชิกจะได้อภิสิทธิ์ซื้อสินค้าในร้านทุกรายการลด 10% และทุก 20 บาทที่ซื้อ จะได้แต้มสะสม 1 แต้ม เมื่อสะสมครบ 500 แต้ม ได้บัตรซื้อสินค้าในร้านมูลค่า 500 บาท
เคนทาโร อธิบายว่า ระบบสมาชิกจะช่วยสร้างความใกล้ชิดระหว่างร้านกับลูกค้า และระหว่างลูกค้ากับลูกค้าด้วยกันเอง นอกจากนั้น ช่วยตัดปัญหาลูกค้าต่อราคา ซึ่งในมุมมองของเขา คิดว่า ถ้ายอมขายถูก ก็จะลดคุณค่าสินค้าไปด้วย อีกทั้ง ส่งผลเสียให้ผู้ขายทุกราย ก็ต้องยอมขายถูกตัดราคากันเอง ดังนั้น ร้านนี้เลือกที่จะไม่ลดราคา แต่ทดแทนด้วยการบริการเสริมอื่นๆ เช่น สมาชิกได้ส่วนลดอัตโนมัติ จัดโปรโมชั่นพิเศษ วันเกิดของสมาชิกจะมีของขวัญเล็กๆ น้อยๆ มอบให้ เป็นต้น เท่าที่ผ่านมาสมาชิกมีอัตรากลับมาซื้อซ้ำสูงมาก นับถึงเดือนพฤษภาคมนี้ ร้านมีสมาชิกประมาณ 1,000 คน และมีปริมาณเพิ่มขึ้น 200 คนทุกเดือน
Yu-Raku03
จากความสำเร็จที่ผ่านมา ร้าน Yu-Raku-Cho เตรียมเปิดสาขา 2 ที่ จ.เชียงใหม่ รวมถึง กำลังก้าวสู่ตลาดโลกอย่างจริงจัง โดยมีคู่ค้ารายใหญ่ขอซื้อสิทธิ์เป็นตัวแทนจำหน่ายรายเดียวในประเทศสหรัฐฯ และในอนาคตจะนำข้อมูลของสมาชิกที่มีอยู่ต่อยอดธุรกิจต่อไป
เคนทาโร ทิ้งท้ายว่า หลักคิดในการทำธุรกิจของชาวญี่ปุ่น คือ นำกำไรส่วนใหญ่มาพัฒนาธุรกิจ ซึ่งปัจจุบัน แฟชั่นของไทยยังตามญี่ปุ่นอยู่ 7 ปี ดังนั้น แนวทางที่จะเดินต่อไป เขาจะพัฒนาสินค้าของร้านให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้นไป ใกล้เคียงกับต้นตำรับมากที่สุด เพื่อให้สินค้าและแบรนด์ ยืนอยู่ได้ด้วยตัวเองในระยะยาว
*******************
อ้างอิงจาก ผู้จัดการออนไลน์

No comments: