นายอิทธิพล ช้างหลำ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในฐานะผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวเปิดเผยว่า ในการประชุมของคณะกรรมการฯ เมื่อวันพุธที่ 25 เมษายน 2555 คณะกรรมการฯ ได้อนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจในประเทศไทยจำนวน 31 ราย มีเงินทุนที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ 1,641 ล้านบาท และมีการจ้างงานคนไทยจำนวน 421 คน ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตดังกล่าวได้แก่ 1. ธุรกิจบริการ จำนวน 19 ราย (คิดเป็นร้อยละ 61 ของธุรกิจที่ได้รับอนุญาต) มีเงินลงทุนจำนวน 1,462 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นบริการให้แก่บริษัทในเครือ/ในกลุ่มเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงิน การให้คำปรึกษาแนะนำ รับค้ำประกันหนี้ บริการทางบัญชี บริการให้เช่าที่ดิน เป็นต้น ประเทศที่เข้ามาลงทุนได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เขตบริหารพิเศษฮ่องกง และเยอรมนี
2. ธุรกิจสำนักงานผู้แทน จำนวน 7 ราย (คิดเป็นร้อยละ 23 ของธุรกิจที่ได้รับอนุญาต) มีเงินลงทุนจำนวน 24 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการรายงานความเคลื่อนไหวทางธุรกิจเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจ การผลิต การจำหน่าย การลงทุน การตลาด ตลอดจนความต้องการใช้สินค้าและบริการต่างๆ ในประเทศไทยให้สำนักงานใหญ่ทราบ รองลงมาเป็นการให้คำแนะนำในด้านต่างๆ เกี่ยวกับสินค้าของสำนักงานใหญ่ที่จำหน่ายให้แก่ตัวแทนจำหน่ายและผู้ใช้สินค้าในประเทศไทย ประเทศที่เข้ามาลงทุนได้แก่ ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร สิงคโปร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
3. คู่สัญญากับภาครัฐ/รัฐวิสาหกิจ จำนวน 3 ราย (คิดเป็นร้อยละ 10 ของธุรกิจที่ได้รับอนุญาต) มีเงินลงทุนจำนวน 148 ล้านบาท ได้แก่ บริการจัดหาและก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าแรงสูงให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริการออกแบบ จัดหา ก่อสร้าง ติดตั้ง ตรวจสอบ ทดสอบ และบำรุงรักษา รวมทั้งการดำเนินงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง สำหรับโครงการก่อสร้างและติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าและความร้อนร่วมให้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ประเทศที่เข้ามาลงทุนคือ ญี่ปุ่นและสาธารณรัฐเกาหลี
4. ธุรกิจค้าปลีก จำนวน 1 ราย (คิดเป็นร้อยละ 3 ของธุรกิจที่ได้รับอนุญาต) มีเงินลงทุน 3 ล้านบาท ได้แก่ การค้าปลีกแม่พิมพ์ที่ใช้สำหรับผลิตชิ้นส่วนยางสังเคราะห์ให้แก่ผู้ที่ว่าจ้างให้บริษัทผลิตชิ้นส่วนยางสังเคราะห์ให้ ประเทศที่เข้ามาลงทุนคือ ญี่ปุ่น
5. ธุรกิจค้าส่ง จำนวน 1 ราย (คิดเป็นร้อยละ 3 ของธุรกิจที่ได้รับอนุญาต) มีเงินลงทุนจำนวน 4 ล้านบาท ได้แก่ การค้าส่งสายไฟและสายเคเบิ้ลที่ผลิตโดยบริษัทในเครือและบริษัทในกลุ่มให้แก่ผู้แทนจำหน่าย ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมยานยนต์ ประเทศที่เข้ามาลงทุนคือ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง
ทั้งนี้ ในเดือนเมษายน 2555 ธุรกิจต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 3 ในขณะที่เงินลงทุนเพิ่มขึ้นจำนวน 1,094 ล้านบาท เนื่องจากมีผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจบริการให้กู้ยืมเงินแก่บริษัทในเครือซึ่งเป็นธุรกิจที่มีเงินลงทุนสูง และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนปรากฎว่า จำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตเพิ่มขึ้นร้อยละ 63 และเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 1,315 ล้านบาท
|
No comments:
Post a Comment