1/17/2015

"พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงฯ ฝาง" ชมพิพิธภัณฑ์มีชีวิต จาก "ดอยฝิ่น" สู่ "ดอยคำ"

"พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงฯ ฝาง" ชมพิพิธภัณฑ์มีชีวิต จาก "ดอยฝิ่น" สู่ "ดอยคำ"

ดูภาพชุดจาก Manager Multimedia
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
1 ธันวาคม 2557 16:50 น.
พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงฯ ฝาง ชมพิพิธภัณฑ์มีชีวิต จาก ดอยฝิ่น สู่ ดอยคำ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงก่อกำเนิด"โครงการหลวง" และโรงงานหลวงฯ
        ด้วยพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มีพระราชประสงค์จะ “ช่วยชาวเขา ช่วยชาวเรา ช่วยชาวโลก” และทรงต้องการพัฒนาความเป็นอยู่ของพสกนิกรในท้องถิ่นทุรกันดารให้อยู่ดีกินดี จึงเกิดเป็น “โครงการหลวง” ที่ส่งเสริมให้ราษฎรเพาะปลูกทำการเกษตร จำพวกผักและผลไม้เมืองหนาว แทนการปลูกฝิ่นทีีมีมาแต่ดั้งเดิม 
      
       นอกจากนั้น ยังมีพระราชดำริให้ก่อสร้าง “โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง)” ขึ้นที่หมู่บ้านยาง ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ในปี 2515 เพื่อรองรับผลผลิตทางการเกษตรนำมาแปรรูปเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่งอนและดอยอ่างขาง ซึ่งต่อมาสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้เข้ารับช่วงการดำเนินงานของโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป จัดตั้งเป็นบริษัทโดยใช้ทะเบียนการค้า “ดอยคำ” ที่เน้นผลิตสินค้าจากผลิตผลของเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อสนับสนุนสินค้าเกษตรไทย และพัฒนาสินค้าที่มีคุณค่าทางอาหาร เรียกได้ว่าเป็นการพัฒนาครั้งใหญ่ จาก "ดอยฝิ่น" สู่ "ดอยคำ" นั่นเอง
พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงฯ ฝาง ชมพิพิธภัณฑ์มีชีวิต จาก ดอยฝิ่น สู่ ดอยคำ
วิวทิวทัศน์เมื่อมองลงมาจากศาลเจ้าแม่กวนอิม ทางซ้ายคืออาคารโรงงานหลวงที่1 ขวาคือ อาคารพิพิธภัณฑ์ฯ
       
พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงฯ ฝาง ชมพิพิธภัณฑ์มีชีวิต จาก ดอยฝิ่น สู่ ดอยคำ
เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ฯ กล่าวต้อนรับ สู่พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1
        หลังจากก่อตั้งโรงงานมา 30 กว่าปี ในเดือนตุลาคม ปี 2549 ได้เกิดพิบัติภัยน้ำท่วมและดินโคลนถล่ม สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนประชาชนในตำบลแม่งอน ตำบลแม่ข่า อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงโรงงานหลวงฯ ด้วยเช่นกัน
      
       จากความเสียหายในครั้งนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรความเสียหาย บริเวณบ้านยางและโรงงานหลวงฯ และมีพระราชกระแสรับสั่งให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ดำเนินการฟื้นฟูและพัฒนาโรงงานหลวงฯ ให้เป็น “พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1 (ฝาง)" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้และพัฒนาอย่างยั่งยืนด้านอุตสาหกรรมการเกษตรแปรรูป เพื่อเกื้อหนุนและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาชุมชนโดยรอบ เพื่อเป็นสถานที่รวบรวมและจัดแสดงแนวพระราชดำริในการพัฒนา และเพื่อความคงอยู่อย่างยั่งยืนของโรงงานหลวงฯ
พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงฯ ฝาง ชมพิพิธภัณฑ์มีชีวิต จาก ดอยฝิ่น สู่ ดอยคำ
ห้องจัดแสดงวัตถุสะสม เป็นสิ่งของจากชาวบ้านชุมชนบ้านยาง ที่บริจาคให้นำมาจัดแสดง
       
พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงฯ ฝาง ชมพิพิธภัณฑ์มีชีวิต จาก ดอยฝิ่น สู่ ดอยคำ
เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ฯ บรรยายความเป็นมาของโครงการหลวงดอยคำ
        นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของ “พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1 (ฝาง)” แหล่งท่องเที่ยวที่ไม่ควรพลาดหากได้มาเยือน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ซึ่งนอกจากจะได้ทราบถึงแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการพัฒนาประเทศอย่างรอบด้านและยั่งยืนในรูปแบบพิพิธภัณฑ์พื้นที่ที่มีชีวิต (Living Site Museum) ซึ่งประกอบไปด้วยอาคารนิทรรศการ โรงงานหลวงฯ และชุมชนบ้านยางแล้ว ก็ยังจะได้เลือกซื้อเลือกชมผลิตภัณฑ์ “ดอยคำ” เป็นของกินของฝากได้อีกด้วย
      
       ก่อนอื่นขอเชิญเข้ามาชมด้านในพิพิธภัณฑ์กันก่อน ภายในจัดแสดงใน 3 หัวข้อหลัก คือ โครงการหลวง โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) และบริษัทดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด โดยจะมีเจ้าหน้าที่นำชมภายในพิพิธภัณฑ์
พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงฯ ฝาง ชมพิพิธภัณฑ์มีชีวิต จาก ดอยฝิ่น สู่ ดอยคำ
รถยนต์คันแรก ที่ได้รับพระราชทาน เมื่อเริ่มก่อตั้งโรงงานหลวงที่ 1
       
พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงฯ ฝาง ชมพิพิธภัณฑ์มีชีวิต จาก ดอยฝิ่น สู่ ดอยคำ
นิทรรศการ จัดแสดงภาพถ่าย ขั้นตอนกระบวนการผลิตของโรงงานหลวง
        ในห้อง “กำเนิดโครงการหลวง” มีข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของชาวบ้านที่จัดแสดงไว้ ไม่ว่าจะเป็นหม้อ ไห กระทะ โดยเป็นข้าวของที่ได้รับบริจาคและให้ยืมจากเจ้าของที่อาศัยในชุมชนบ้านยาง จัดแสดงไว้เพื่อให้เยาวชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของประวัติศาสตร์ชุมชนและความหวงแหนในสมบัติของบรรพบุรุษ
      
       นอกจากนั้นยังมีความเป็นมาของกำเนิดโครงการหลวง ที่เกิดขึ้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรชาวไทยภูเขาเขตจังหวัดภาคเหนือ และทอดพระเนตรเห็นป่าไม้บนเขาที่ถูกทำลายจากการปลูกฝิ่น อีกทั้งสภาพความเป็นอยู่ที่แร้นแค้น พระองค์จึงทรงส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกพืชเมืองหนาวแทนการปลูกฝิ่น รวมถึงพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ จนกลายมาเป็น “โครงการหลวง” ในบริเวณนี้ยังมีภาพถ่ายเก่าแก่สมัยที่ในหลวงเสด็จเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ภาคเหนือให้ชมกันด้วย
พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงฯ ฝาง ชมพิพิธภัณฑ์มีชีวิต จาก ดอยฝิ่น สู่ ดอยคำ
อุปกรณ์โรงงานที่โดนน้ำท่วม ถูกเก็บเอามาไว้จัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์
       
พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงฯ ฝาง ชมพิพิธภัณฑ์มีชีวิต จาก ดอยฝิ่น สู่ ดอยคำ
ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ดอยคำ
        ส่วนในห้อง “กำเนิดโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง)” ห้องนี้มีภาพถ่ายที่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของโรงงานหลวงฯ ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ภายในห้องมี “รถโฟล์ค” ซึ่งเป็นรถยนต์พระราชทานเมื่อแรกก่อตั้งโรงงานหลวงฯ มีรูปภาพเก่าเมื่อครั้งในหลวงและสมเด็จพระราชินีฯ เสด็จโดยเฮลิคอปเตอร์ไปทรงเยี่ยมบ้านยาง และโรงงานหลวงฯ เมื่อปี 2516 อีกด้วย
      
       ในห้องนี้ยังจัดแสดงภาพถ่ายบรรยากาศและผู้คนในชุมชนบ้านยางที่มีทั้งชาวไทยและชาวจีนที่สืบเชื้อสายมาจากชาวจีนยูนนาน ชาวไทยใหญ่ (ฉาน) และชาวไทยภูเขา และมีการดำเนินวิถีชีวิตมากว่า 50 ปี ผสมผสานการนับถือศาสนาของชาวพุทธ คริสต์ อิสลาม และการนับถือผีกันอย่างร่มเย็นภายใต้พระบรมโพธิสมภาร อีกทั้งในห้องนี้ยังมีเครื่องจักรในโรงงานหลวงฯ ที่ถูกน้ำน้ำป่าพัดถล่มมาจัดแสดงไว้ให้ชมอีกด้วย
พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงฯ ฝาง ชมพิพิธภัณฑ์มีชีวิต จาก ดอยฝิ่น สู่ ดอยคำ
สถานีอนามัยพระราชทาน ใกล้บันไดทางขึ้นไปศาลเจ้าแม่กวนอิม
       
พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงฯ ฝาง ชมพิพิธภัณฑ์มีชีวิต จาก ดอยฝิ่น สู่ ดอยคำ
ทัศนียภาพด้านหน้าอาคารพิพิธภัณฑ์ เห็นศาลเจ้าแม่กวนอิมอยู่ด้านบนเนินเขา
        ก่อนจะออกจากพิพิธภัณฑ์อย่าลืมแวะซื้อแวะชมผลิตภัณฑ์ “ดอยคำ” และทราบถึงประวัติและบทบาททางสังคมของบริษัทฯ และมีพื้นที่สำหรับผู้สนใจศึกษาข้อมูลและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับพิพิธภัณฑ์ โรงงานหลวงฯ และชุมชนโดยรอบที่บริเวณชั้นลอยของห้องอีกด้วย
      
       และสำหรับคนที่อยากเดินชมบรรยากาศของชุมชนบ้านยาง ก็ต้องไม่พลาดไปสักการะศาลเจ้าแม่กวนอิม ซึ่งเป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้านยางที่นับถือพระพุทธศาสนา และมีเทศกาลกินเจร่วมกันทุกศาสนาในวันตรุษจีน แวะชมสถานีอนามัยเก่าที่ในหลวงโปรดให้สร้างพระราชทานแก่ชาวชุมชนบ้านยาง รวมถึงชมบ้านดิน ที่ยังคงมีหลงเหลือให้เห็นอยู่ไม่กี่หลังในหมู่บ้าน โดยบ้านดินเป็นบ้านที่ชาวจีนยูนนานสร้างไว้เมื่อเข้ามาตั้งรกรากที่บ้านยาง อีกทั้งไม่ไกลกันมากนักยังเป็นที่ตั้งของน้ำตกบ้านยางน้ำตกขนาดเล็กที่เป็นแหล่งน้ำสำคัญของหมู่บ้านอีกด้วย
      
       “พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1 (ฝาง)” จึงเป็นอีกหนึ่งสถานที่สำคัญใน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่แสดงให้เห็นถึงกระบวนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศแบบบูรณาการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งสะท้อนวิถีชีวิตความเป็นอยู่และความหลากหลายของชุมชนอย่างแท้จริง
      
       
       * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * 

      
       พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1 (ฝาง) ตั้งอยู่ที่ 72 หมู่ 2 ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เปิดให้เข้าชมฟรี เวลา 08.30-16.30 น. โดยจะปิดบริการเฉพาะวันจันทร์ (เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์) และวันหยุดประจำปี 15-30 กันยายนของทุกปี ส่วนเวลาทำการของร้านขายของที่ระลึกคือ 08.00-17.00 น. ปิดวันจันทร์ (เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
      
       การเดินทาง จากเชียงใหม่มุ่งหน้าอำเภอฝาง ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 107 ระยะทาง 150 กม. ถึงแยกอ่างขางแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าไปอีกเพียง 9 กม. 

No comments: