|
พระเจดีย์เจ็ดยอด |
|
|
ตามความเชื่อของคนไทย โดยเฉพาะชาวล้านนา มีความเชื่อกันว่า หากได้นมัสการพระธาตุประจำปีเกิดของตนเอง จะทำให้เกิดสิริมงคลกับชีวิต มีอานิสงส์สูงและทำให้มีอายุยืนนาน และแม้ว่าจะเป็นเพียงความเชื่อดั้งเดิมที่บันทึกอยู่ในตำราพื้นเมืองโบราณ ไม่ได้ปรากฏในหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา แต่ก็ยังเป็นสิ่งที่นิยมปฏิบัติกันสืบมา สำหรับในปี 2556 นี้ หากนับปีนักษัตรแล้ว ก็คือ “ปีมะเส็ง” หรือ “ปีงูเล็ก” ซึ่งตามความเชื่อของชาวล้านนา พระธาตุประจำปีเกิดปีมะเส็งก็คือ “โพธิบัลลังก์ วิหารมหาโพธิเจดีย์” รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย แต่เนื่องจากสถานที่ประดิษฐานโพธิบัลลังก์อยู่ไกล จึงอนุโลมให้เป็นพระเจดีย์ที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน ซึ่งก็คือ “พระเจดีย์เจ็ดยอด” หรือ“มหาเจดีย์พุทธคยา” ณ วัดโพธารามมหาวิหาร หรือวัดเจ็ดยอด ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่
|
|
ต้นศรีมหาโพธิ์ |
|
|
ตามประวัติความเป็นมา ผู้สร้างวัดเจ็ดยอดคือ พระเจ้าติโลกราช แห่งราชวงศ์มังราย โดยตั้งชื่อวัดว่า “วัดมหาโพธาราม” หรือ “วัดโพธารามมหาวิหาร” ซึ่งมาจากที่มีพระเถระชาวลังกานำต้นศรีมหาโพธิ์มาจากประเทศศรีลังกา มาปลูกในบริเวณนี้ และถือว่าต้นศรีมหาโพธิ์เป็นโพธิบัลลังก์ อันเป็นสัญลักษณ์แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธองค์ และยังโปรดให้สีหโคตรเสนาบดี เดินทางไปยังประเทศอินเดียเพื่อจำลองออกแบบรูปแบบเจดีย์และสัตตมหาสถานเจดีย์ มาสร้าง ณ วัดแห่งนี้ โดยมีโพธิบัลลังก์ (ต้นศรีมหาโพธิ์) เป็นศูนย์กลาง โดยพระเจดีย์มีสถาปัตยกรรมที่แปลกตาไปจากพระเจดีย์อื่นๆ มีฐานเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ล้อมรอบด้วยปูนปั้นเทพพนมและลวดลายดอกไม้ที่มีความวิจิตรพิสดาร และเนื่องจากพระเจดีย์เจ็ดยอดเป็นพระธาตุประจำปีคนเกิดปีมะเส็ง ที่ด้านฐานองค์พระเจดีย์จึงมากไปด้วยรูปปั้นงูเล็ก(ส่วนมากเป็นงูเห่า)ที่มีผู้นำมาถวายแก้บน
|
|
รูปปั้นงูที่มีคนนำมาถวายแก้บน |
|
|
พระเจดีย์นี้เป็นส่วนบนของหลังคาพระวิหารโบราณที่ปรากฏอยู่แต่ดั้งเดิม ซึ่งภายในพระวิหารมีพระประธานหลวงพ่อใหญ่ประดิษฐานอยู่ ทางทิศตะวันตกของพระวิหารมีพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประดิษฐ์ในซุ้มอีกองค์หนึ่ง หลังคาเป็นยอดเจดีย์ 7 ยอด ในพระวิหารมีทางขึ้นลงเพื่อขึ้นไปสักการะพระเจดีย์ พระเจดีย์องค์ใหญ่มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ภายใน ส่วนเจดีย์บริวารทั้ง 4 มุมมีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป 4 องค์ และทางทิศตะวันออกของเจดีย์สี่เหลี่ยม ยังมีเจดีย์ทรงระฆังอีก 2 องค์ รวมเจดีย์ที่อยู่ด้านบนพระวิหารมีทั้งหมด 7 องค์ หรือมองเห็นเป็นเจดีย์เจ็ดยอดนั่นเอง และจึงกลายเป็นชื่อวัดที่ชาวบ้านทั่วไปนิยมเรียกกันว่า “วัดเจ็ดยอด” นอกจากความสำคัญในเรื่องคติความเชื่อพระธาตุปีเกิดประจำปีมะเส็งแล้ว “วัดเจ็ดยอด” ก็ยังมีความสำคัญในฐานะที่เป็นโบราณสถานของเชียงใหม่ และยังเป็นสถานที่ประชุมสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 ของโลก เมื่อประมาณ 500 กว่าปีก่อน
|
|
ปูนปั้นลวดลายวิจิตรรอบองค์พระเจดีย์ |
|
|
โดยพระเจ้าติโลกราช โปรดให้มีการทำการสังคายนา ชำระพระไตรปิฎก และอาราธนาพระเถระผู้แตกฉานในพระไตรปิฎกจากทั่วดินแดนล้านนามาร่วมประชุมทำสังคายนาในครั้งนั้น ซึ่งถือว่าเป็นการประชุมสังคายนาที่เกิดขึ้นในราชอาณาจักรไทยเป็นครั้งแรก และเป็นครั้งที่ 8 ของโลก (ส่วนใหญ่แล้ว การประชุมสังคายนาพระไตรปิฎกจะจัดขึ้นในประเทศอินเดียและศรีลังกา) และใช้ตัวอักษรล้านนาจารึกเป็นภาษาพระไตรปิฎกขึ้นเป็นครั้งแรก เนื่องจากเป็นโบราณสถานที่เก่าแก่ จึงทำให้วัดเจ็ดยอดเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ และปรากฏพุทธศิลป์สมัยล้านนาอยู่ทุกมุมวัด อาทิ สถูปอนุสาวรีย์พระเจ้าติโลกราช เจดีย์กู่แก้ว ซุ้มประตูโขง เป็นต้น ใครที่เกิดในปีมะเส็ง หรือพุทธศาสนิกชนทั่วไป หากมีโอกาสได้เดินทางไปสักการะพระเจดีย์เจ็ดยอด ณ วัดเจ็ดยอด ก็นับว่าเป็นกุศลแก่ตัวเองไม่น้อย |
No comments:
Post a Comment