สวนที่พ่อสร้าง
โดย : คมฉาน ตะวันฉาย
ผมนั่งฟังเรื่องเล่าถึงที่มาของสวนสองแสน จากคุณวิสิฐ กิจสมพร ที่เพิ่งเกษียณไปจากตำแหน่งหัวหน้าสถานีวิจัยดอยปุยไปหมาดใหม่
ถึงที่มาของสวนแห่งนี้ว่าในหลวงของเรา พระองค์ท่านทอดพระเนตรเห็นชาวเขาถางป่าปลูกฝิ่น ก็เลยหาพืชที่มีผลตอบแทนใกล้เคียงกับฝิ่นและไม่ผิดกฎหมาย ทั้งไม่ต้องถางป่าเพื่อขยายพื้นที่ปลูกออกไปเรื่อยๆ
เมื่อรู้ว่าทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งตอนนั้นมีสวนบวกห้า เป็นสถานีวิจัยและทดลองปลูกพืชอยู่ก่อนแล้ว พืชเมืองหนาวที่มีราคาแพง อย่างลูกพลับสถานีแห่งนี้ก็ทำการปลูกได้ แต่มาติดขัดในเรื่องสถานที่ที่จะทดลองปลูกที่ขณะนั้นมหาวิทยาลัยมีพื้นที่อย่างจำกัดบนดอยปุย พระองค์จึงซื้อที่ดินต่อจากชาวบ้านที่กำลังปล่อยให้ที่รกร้างเพราะปลูกพืชอื่นไม่ได้ผลด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เมื่อปี พ.ศ.2512 ในราคา 200,000 บาท เพื่อให้เป็นสถานที่ทดลองปลูกพืชที่ศึกษาวิจัย เพื่อการเผยแพร่สู่เกษตรกรต่อไป เลยตั้งชื่อสวนว่า สวนสองแสน ต่อมาบริษัทบุญรอดบริจาคที่ดินเพิ่มให้อีก 25 ไร่ ก็เรียกว่าสวนบุญรอด ที่ดินทั้งสามแปลง ได้ทำการทดลองวิจัยพืชทดแทนการปลูกฝิ่น เพาะพันธุ์กล้าพืชผล และแจกจ่ายไปยังเกษตรกรมากมาย และที่นี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของโครงการหลวงต่างๆ ที่กระจายกันอยู่มากมายนับสิบๆ แห่งเกือบจะทั่วภาคเหนือ
“ครั้งประทับที่ภูพิงค์ราชนิเวศน์ บางวันพระองค์ท่านเสด็จมาพร้อมสมเด็จพระราชินี ผมก็ไม่รู้ตัวมาก่อน เสด็จมาเป็นการส่วนพระองค์ มาดูความคืบหน้าของสวนสองแสน เสด็จพระราชดำเนินไปในสวน สมัยก่อนไม่เป็นบันไดแบบนี้” ผมมองสวนพลับเบื้องล่างที่ออกผลงามเหลืองเต็มต้น มองอาคารเล็กๆ ที่พระองค์เคยเสด็จมาประทับเพื่อเยี่ยมสวนแห่งนี้ ตามที่หัวหน้าวิสิฐชี้ให้ดู แล้วเกิดความปลื้มปิติมาก ทุกวันนี้สถานีวิจัยดอยปุย ที่ขึ้นกับสถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็ยังคงทำหน้าที่เป็นแหล่งวิทยาการด้านการเกษตรให้กับเกษตรกรทุกภาคส่วนเสมอมา
“นอกจากที่เราส่งเสริมให้มีการจัดประชุมสัมมนาในหลายพื้นที่ ครั้งนี้ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ที่มีศักยภาพในสถานที่ประชุม ที่พักและการเดินทางที่สะดวกแล้ว เราอยากให้เห็นกิจการของโครงการหลวงและงานของพระองค์ท่าน เพื่อให้เป็นแรงบันดาลใจสำหรับผู้คนในการทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อตอบแทนสังคม” ภูริพันธ์ บุนนาค แห่งสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ(องค์การมหาชน) บอกถึงเหตุผลของการพามาดูโครงการครั้งนี้
รถยนต์ไต่แล่นฝ่าสายฝนขึ้นไปบนดอยอินทนนท์ โดยมีจุดหมายอยู่ที่โครงการหลวงอินทนนท์ บ้านขุนกลาง ที่นักท่องเที่ยวทั้งหลายคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ที่นี่เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ชักนำให้ชาวเขาที่อยู่บนดอยสูงหยุดการถางป่าเพื่อทำไร่แล้วปักหลักอยู่กับที่ ใช้ที่ดินที่มีอยู่อย่างมีคุณค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด โครงการหลวงอินทนนท์ก็ทำหน้าที่ศึกษา วิจัย พัฒนาพืชผลทางการเกษตร ส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้สู่เกษตรกร รับซื้อผลิตผล รวมทั้งควบคุมคุณภาพของสินค้าด้วย ใครไปคงเคยเห็นโรงปลูกพืชผลที่มีหลังคาพลาสติกสีขาวครอบอยู่ทั่วไปหมด นั่นคือพืชผลเมืองหนาวที่ผลิตได้จากบนดอยอินทนนท์ โดยการส่งเสริมของโครงการหลวงแห่งนี้
แปลงดอกเบญจมาศดอกใหญ่ๆ พืชผักสารพันที่เห็นกันจนเกลื่อนดอย ทำให้ผมอดเทียบเคียงกับแปลงกะหล่ำบนภูทับเบิก หรือที่อื่นๆ ที่เกษตรกรโหมใส่สารเคมีไปจนน่ากลัว พาลอดคิดไม่ได้ว่า เกษตรกรที่นี่จะใช้สารเคมีเพียงใด เพราะดอยอินทนนท์ คือแหล่งของต้นแม่น้ำเจ้าพระยาก็ว่าได้ ถ้าสารเคมีถูกชะล้างลงจากต้นธาร ก็เหมือนเราทั้งหมดในพื้นล่างกำลังถูกสารเคมีฆ่าอยู่วันละนิด แต่เรื่องนี้คุณสมชาย เขียวแดง ผู้อำนวยการสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ ได้ให้ความกระจ่างว่า สถานีฯส่งเสริมและให้ความรู้เกษตรกรในการใช้สารเคมี ภายใต้กฎเกณฑ์การตรวจสอบอย่างเข้มงวด
ผลิตผลที่ทางสถานีรับซื้อจากเกษตรกรจะมีการตรวจสอบเรื่องสารเคมีในหลายลำดับชั้น เมื่อตรวจพบจะถูกส่งสินค้ากลับ งดรับซื้อสินค้าและขึ้นบัญชีดำ เป็นมาตรการที่ทำให้เกษตรกรให้ความสำคัญกับการใช้สารเคมีอย่างมาก น้ำที่ไหลไปจากดอยอินทนนท์ จึงมั่นใจได้ว่าปลอดสารเคมี สถานียังศึกษาวิจัยและส่งเสริมให้ชาวบ้านทั้งบนดอยและในที่ราบเลี้ยงกุ้งก้ามแดงและปลาเรนโบว์เทราท์ในทุ่งนาที่น้ำปราศจากสารพิษ เพื่อเพิ่มรายได้ระหว่างทำนา ซึ่งผลิตผลสองอย่างนี้ ผลิตได้ไม่พอกับตลาดที่ต้องการ จนเป็นรายได้เสริมที่ดีของเกษตรกร รวมทั้งแปลงพืชผักออกแกนิคอย่างสมบูรณ์ในโรงเรือน ทั้งผลิตเพื่อเป็นสินค้าและชักชวนให้เกษตรกรมาร่วมผลิต โดยโครงการหลวงทำการจัดจำหน่ายให้เสร็จสรรพ
แม้กระทั่งกุหลาบพันปีที่มีอยู่บนดอยอินทนนท์ โดยเฉพาะที่กิ่วแม่ปานที่เคยถูกไฟป่าทำลายเมื่อหลายปีก่อน โครงการหลวงอินทนนท์ก็ทำการปลูกชดเชยขึ้นมาอีกนับร้อยต้น จนในอนาคตดงกุหลาบพันปีที่ใหญ่ที่สุดจะปรากฏที่โครงการหลวงแห่งนี้ ไหนๆ ไปถึงอินทนนท์ก็เลยไปดูป่าฝนต้นน้ำเจ้าพระยาซะหน่อย
ดอยอินทนนท์ในช่วงฤดูฝน อาจจะเป็นภาพที่หลายคนอาจจะไม่คุ้นตา บริเวณบ้านพักและลานกางเต็นท์ของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์จึงเงียบสงบเป็นธรรมชาติอย่างมาก อากาศที่แตะ 18 องศาในตอนกลางคืนทำให้เย็นจนค่อนข้างหนาว แต่นั่นไม่เท่ากับความสวยงามของอ่างกาหลวงที่อยู่บนยอดดอย ที่แห่งนี้มีรูปภาพที่สมเด็จย่าเคยเสด็จมาเมื่อปี 2507 ครั้งนั้นพื้นที่หลายส่วนบนดอยอินทนนท์ถูกแผ้วถางอย่างหนัก อ่างกาหลวงเองก็เป็นทุ่งหญ้าโล่ง เกือบหมดสภาพพรุบนยอดเขา ต่างกับปัจจุบันที่ได้รับการฟื้นฟู เช่นเดียวกับป่าในเส้นทางกิ่วแม่ปาน ที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ให้ความสำคัญอย่างมาก
บนนี้กลายเป็นป่าเมฆต้นธารน้ำ ดอกเทียนหลายชนิดทั้งเทียนกาเร็ต (Impatiens garettii), เทียนจาบ (Impatiens longiloba) ออกดอกสะพรั่งซะแซมตลอดทางเดินชม พืชเกาะอาศัยที่ขึ้นคลุมผิวไม้ใหญ่ดักละอองหมอกที่ขาวโพลนไปทั่วให้เป็นหยดน้ำ ก่อนจะรวมไปเป็นลำธารน้ำไหลลงไปยังเบื้องล่าง ผมจึงสะท้อนใจที่พระมหากษัตริย์ทรงเก็บป่าเพื่อเป็นต้นน้ำของแผ่นดิน แต่กลับมีคนที่อยากสร้างเขื่อนทับป่า ทำลายต้นน้ำ
มาเห็นสวนที่พ่อสร้าง ป่าที่พ่อบำรุง เหล่านี้จะเพื่อใคร ถ้าไม่ใช่คนไทยที่เป็นพสกนิกรของพระองค์ โดยไม่แยกเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์
ขอพระองค์ทรงพระเจริญ
ขอบคุณข้อมูลคุณภาพจาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
No comments:
Post a Comment