12/10/2013

วันนี้ของ เชียงแสน ดินแดนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ระหว่างเชียงราย กัย สามเหลี่มทองคำ

สถาปัตยกรรม เชียงแสน ที่ซุ่มซ่อนตัวอยู่หลังแนวกำบังของหุบเขาราวกับจะหลบเร้นตัวเองจากยุคสมัย และความไหลบ่าของนักท่องเที่ยว ที่พร้อมจะท้าทายวิถีชีวิตและขนบธรรมเนียมล้านนาไท ทว่าอีกด้านหนึ่ง การมาถึงของอารยธรรม และความรุ่งเรืองกลับเป็นสัจธรรมที่ยากจะหลีกหนีได้ ในฐานะประตูม่านย้อยเชื่อมร้อยสามดินแดน บรรจบกันจนแน่นแฟ้น ที่เรียกว่า ดินแดนสบรวก หรือ สามเหลี่ยมทองคำ อันเลื่องชื่อ
วันนี้ของชายขอบ เชียงแสน ดินแดนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ
เชียงแสน” เดิมคือ อาณาจักรใหญ่ที่สำคัญในดินแดนภาคเหนือ ทว่ากลับอาภัพดังเมืองที่ถูกสาปให้อยู่ภายใต้ ความตึงเครียดของคมหอกแห่งสงคราม และความอึมครึมของการค้าฝิ่นมาช้านาน ก่อนจะได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยมีร่องรอยของอดีตกาลเหลือไว้เป็นเครื่องเตือนใจ ให้ใครที่ใครจะศึกษาผ่านทาง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสน ได้เก็บเกี่ยวเป็นความรู้ไว้ หรือจะเดินทอดน่องท่องตัวอำเภอเชียงแสนในแบบสบายๆ ก็ยังคงมีกลิ่นอายของรากเหง้าวัฒนธรรมเก่าแก่เจือจางให้ได้เห็นเชียงแสนในวันนี้ ยังคงดำเนินตามวิถีที่เรียบง่ายแบบฝังรากลงลึกกับภูมิปัญญาท้องถิ่น การกิน การค้า สันทนาการ แม้ปากแม่น้ำสามเหลี่ยมทองคำจะยังคงคลาคล่ำไปด้วยกาสิโน โอ้อวดยวนเย้าเหล่านักเสี่ยงโชคจากพม่า ลาว และไทย จนกลายเป็นอีกหนึ่งวิถีชีวิตและภาพจำที่ติดตา
วันนี้ของชายขอบ เชียงแสน ดินแดนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ
เส้นทางสายใหม่ที่ถูกตัดผ่านเข้าสู่ตัว อ.แม่สาย รองรับความสะดวกสบายในอนาคต ยังแฝงไว้ด้วยความท้าทาย ให้นักผจญภัยหัวใจแกร่งควบบิ๊กไบค์สองล้อสัญจรท่องเที่ยวเก็บเกี่ยวบรรยากาศเมืองเหนือ ที่เหลือคือการตาม รอยอารยธรรมเชียงแสน มรดกโลกล้ำค่าแห่งล่าสุดอายุ 750 ปี ที่ล่วงผ่านวาระการเฉลิมฉลองไปเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา อีกฟากหนึ่งสู่เชียงแสนที่สะดวกสบายกว่า หากเดินทางจากตัวเมืองเชียงรายเพียงไม่กี่อึดใจ ประตูสู่เชียงแสนด่านแรก คือเมืองเล็กๆ ที่สงบเงียบ เมื่อย่ำแรกในเมืองเชียงแสนอาจชวนให้แปลกตา หากพบว่าซากกำแพงเมืองโบราณรกร้าง ตามหัวมุมต่างๆ รอบเมืองยังคงหลอมรวมกับวิถีชุมชนสมัยใหม่ ใครก็ตามที่ไม่พิศมัยในวิถีการค้าและแหล่งบันเทิงร่วมสมัย
ความสงบเงียบร่มเย็นในบรรยากาศดั่งต้องมนต์ของชุมชนแห่งนี้ ก็มีเสน่ห์พอยามปรารถนาจะหลบลี้หนีความวุ่นวาย ค้นพบได้จากความร่มเย็น ณ วัดพระธาตุเจดีย์หลวง ตลอดรวมถึงประติมากรรมเก่าแก่จากยุคพ่อขุนเม็งรายที่จะหาชมได้เต็มตาที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสน ตลอดจน เมืองโบราณ จุดชมเมืองเก่าเพื่อย้อนรำลึกถึงความรุ่งเรืองแห่งอาณาจักรล้านนา
เชียงแสน ในอดีตก่อนจะหลอมรวมมาเป็นแผ่นดินเดียว กับ เชียงราย ดังเช่นทุกวันนี้ เคยเป็นดินแดนในครอบครองของเงี้ยว ซึ่งเป็นอริรบร่วมกันกับกองโจรพม่า การสู้รบทำลายสถาปัตยกรรมอันมีค่าของเมืองเชียงแสนจนแทบจะหมดสิ้น ดังบันทึกของ คาร์ล บ็อค นักธรรมชาติวิทยาผู้เข้ามาสำรวจประเทศสยาม ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้บันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์ ผ่านลายเส้นเอาไว้ดังนี้ว่า “…..เมืองนี้มีซากปรักหักพังซึ่งมีสถาปัตยกรรมที่แปลกตา ฝีมือประณีตพระเจดีย์บางองค์ ประดับด้วยลวดลายแกะสลัก แต่ทุกองค์ก็ถูกบุกรุกทำลาย ลักเอาของมีค่า ไปจนหมดสิ้น……ตามพื้นดินมีพระพุทธรูปสำริดกองอยู่เกลื่อนกลาด บางองค์ก็มีขนาดใหญ่โตมาก พวกเงี้ยวยังคงมาทำการสักการะ เพราะเป็นปูชนียสถานที่พวกเขานับถือ แต่ถูกพวกเชียงราย (รากเหง้าคนไทยในปัจจุบัน) มาบุกรุกทำลาย…..” จากบันทึกของบ็อคบ่งบอกได้ถึงความรุ่งเรืองของเมืองเชียงแสน
วันนี้ของชายขอบ เชียงแสน ดินแดนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ
ว่าเคยยิ่งใหญ่ป่านใด แต่ที่น่าสลดใจก็คือ แม้แต่ตัวเขาเองก็ยังนำพระพุทธรูป จากซากพระเจดีย์กลับยุโรปไป เป็นจำนวนมาก ยิ่งทำให้น่าเสียดายว่าแม้แต่ความงามอันทรงคุณค่า ก็ยังพ่ายแพ้ต่อกิเลสตัณหาของมนุษย์อยู่ดี ไม่ว่าจะยุคไหนสมัยไหน ชัยภูมิสำคัญอีกด่านหนึ่ง ของเชียงแสนคือที่ประดิษฐานของ พระพุทธนวล้านตื๊อ พระพุทธรูปองค์สำคัญหล่อด้วยทองคำสำริดดูแววาวราวถูกหลอมขึ้นใหม่ เหตุเพราะเป็นองค์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อทดแทนองค์เดิม ที่จมลงสู่เบื้องล่างของลุ่มน้ำโขง จุดนี้โยงใยเข้ากับบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำที่เป็นจุดชมวิวตะวันยามพลบค่ำ ที่สวยงามเพลินตา หากอากาศดี จะล่องเรือกลางลำน้ำโขง สัมผัสจิตวิญญาณและการเดินทางที่ต่อยอดสู่สิบสองปันนา ก็จะยิ่งเป็นการเดินทางที่คุ้มค่าน่าจดจำ
วันนี้ของชายขอบ เชียงแสน ดินแดนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ
ท้องถนนในตัวอำเภอ เชียงแสน ไม่ได้ทำลายมรดกทางสถาปัตยกรรมจากยุคเก่าฉันท์ใด สถาปัตยกรรมกลางเก่า-กลางใหม่ อย่างตู้ไปรษณีย์โบราณก็ยังคงมีให้เห็นอยู่ อิฐมอญเก่าแก่ตัวแทนที่ยังหลงเหลือของกำแพงเมืองในยุคโบราณ ทิวทัศน์ริมฝั่งโขงแห่งนี้ไม่ได้หยุดอยู่แค่อาหารตา หากแวะมารองท้องหรือต้องการอิ่มหนำย่ำบรรยากาศกับมื้อพิเศษแล้ว ความสุขข้างทางจากแผงขายปลาช่อนกระบอก หยอกเย้ากับลมเอื่อยๆ ริมฝั่งสบรวก หรือมุมกินเที่ยวแบบสะดวก กับตลาดโต้รุ่ง เรียบง่ายในบรรยากาศแบบชาวบ้านในตัวอำเภอ เป็นความเคลื่อนไหวที่ยังรอต้อนรับทุกชีวิต ที่มุ่งผ่านสู่เชียงแสนยามแวะพักให้เราทักทาย เพื่อเก็บแรงไว้พบกับความท้าทายของทริปต่อไป
เช้าสายบ่ายค่ำ เราเดินทางตามใจปรารถนารอบเมือง เชียงแสน สูดกลิ่นไอวัฒนธรรมล้านนาจนชุ่มปอด ต่อยอดการเดินทาง ด้วยการค้นหาแหล่งอารยธรรมเดิมของเมืองเหนือ ข้ามพรมแดนสู่ประเทศเพื่อนบ้านผ่านปากแม่น้ำอันมีประวัติยาวนาน พบพานเพื่อนร่วมทางที่แตกต่างหลากหลายในแนวคิด แต่มีจิตใจเดียวกันคือการค้นหา เพื่อหวังว่าจะได้กลับมาเยือนอีกครั้ง… โดยหวังว่าศักราชใหม่ๆ จะไม่พัดพาเอาความเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมมาเบียดบังความงามดังเช่นเมืองเก่าอีกหลายๆ เมืองที่เราต้องจำใจบอกลา

No comments: