|
ทัศนียภาพที่สวยงามอย่างยิ่งของไร่ชาฉุยฟง |
|
|
หลัง “สุบิน วนัสพิทักษกุล” ทายาทรุ่น 2 แห่งไร่ชา “ฉุยฟง” ผู้ผลิตชารายใหญ่อันดับต้นๆ ของ จ.เชียงราย เข้ามารับช่วงจากรุ่นพ่อ ได้ต่อยอดธุรกิจด้วยการปรับวิธีเพาะปลูกสู่เกษตรอินทรีย์ พร้อมเชื่อมโยงไร่ชาเข้ากับการท่องเที่ยว ก่อประโยชน์ทั้งแง่สังคม สิ่งแวดล้อม ตลอดจนเสริมให้ธุรกิจแข็งแรงโดดเด่นยิ่งขึ้น
|
|
สุบิน วนัสพิทักษกุล ทายาทรุ่น 2 แห่งไร่ชาฉุยฟง |
|
|
สุบินเล่าว่า คุณพ่อ (ทวี วนัสพิทักษกุล) บุกเบิกปลูกชาที่ดอยพญาไพร ต.เทอดไทย อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ตั้งแต่เกือบ 40 ปีที่แล้ว มีจุดเด่นเป็นชาสูตรโบราณจากเมืองจีนแท้ๆ ประกอบกับพื้นที่เพาะปลูกอยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 800-1,000 เมตร อากาศเย็นตลอดทั้งปีจึงปลูกชาได้คุณภาพเยี่ยมเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างสูง โดยเฉพาะในช่วง 10 กว่าปีให้หลังที่ธุรกิจเครื่องดื่มชาเขียวในเมืองไทยเติบโตอย่างยิ่ง ส่งให้กิจการของไร่ชาฉุยฟงเติบโตตามไปด้วย จนถึงปัจจุบันมีพื้นที่เพาะปลูกอยู่ที่ อ.แม่ฟ้าหลวง และ อ.แม่จัน จ.เชียงราย รวมกว่า 1,200 ไร่
|
ส่วนตัวแล้ว ทายาทวัย 33 ปีคลุกคลีเรียนรู้และช่วยงานในไร่มาตั้งแต่เกิด กระทั่ง ประมาณ 3-4 ปีที่แล้วเข้ามารับช่วงดูแลกิจการต่อจากพ่อเต็มตัว โดยสิ่งสำคัญพยายามปรับกระบวนการผลิตเป็นเกษตรอินทรีย์ 100% หวังเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ หนีจากการแข่งขันจากชานำเข้า โดยเฉพาะจากจีน อีกทั้งตอบความต้องการของผู้บริโภคยุคนี้ที่ใส่ใจสุขภาพเพิ่มขึ้น สุบินกล่าวถ่อมตัวว่า จริงๆ แล้วแนวคิดดังกล่าวเริ่มมาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ ส่วนตนเพียงเข้ามาสานต่อเท่านั้น โดยได้รับการสนับสนุนความรู้ และปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตจากหน่วยงานภาครัฐในท้องถิ่น เช่น กรมการปกครอง โดย อ.แม่ฟ้าหลวง เป็นต้น เน้นปรับพฤติกรรมเกษตรกรในเครือข่ายให้ตระหนักถึงความสำคัญของการทำเกษตรอินทรีย์
|
|
อาชีพทำไร่ชา คือ รายได้หลักของชาวเชียงรายในท้องถิ่น |
|
|
“การปลูกแบบธรรมชาติจะให้ผลดีกว่าใช้สารเคมี แต่ก็ได้ผลช้า ดังนั้นที่ผ่านมาเราจะทำในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ทยอยลดสารเคมีลง ควบคู่กับทำความเข้าใจต่อเกษตรของเราว่าการปลูกออร์แกนิกจะช่วยให้ได้ผลผลิตที่ราคาสูงกว่า และดีต่อสุขภาพของคนในท้องถิ่น และสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นเราด้วย ซึ่งจะทำให้เราสามารถทำอาชีพนี้ได้อย่างยั่งยืน” เจ้าของธุรกิจเล่าเสริม
|
คำว่า “ฉุยฟง” ในภาษาจีน หมายถึง “ภูเขาที่เขียวชอุ่ม” จุดเด่นของไร่แห่งนี้อยู่ที่การปลูกแบบขั้นบันได โดยเฉพาะพื้นที่รอยต่อตรง อ.แม่จัน กับ อ.แม่ฟ้าหลวงมีทัศนียภาพสวยงามอย่างยิ่ง นำมาสู่แนวคิดต่อยอดธุรกิจ เชื่อมโยงไร่ชาเข้ากับการท่องเที่ยว
|
สุบินอธิบายเสริมว่า ได้แนวคิดจากการไปดูงานในต่างประเทศ ประกอบกับที่ผ่านมา โฆษณา และละครโทรทัศน์มักมาขอใช้สถานที่ถ่ายทำจำนวนมาก ก่อให้เกิดกระแสนักท่องเที่ยวอยากมาตามรอยละครดัง จึงเริ่มพัฒนาไร่เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยให้เข้าชมฟรี มีมุมสวยๆ ไว้ให้ถ่ายภาพ รวมถึงมีธุรกิจร้านชา ร้านอาหาร และห้องพักที่เตรียมไว้บริการ ตลอดจนขายผลิตภัณฑ์ชา ของที่ระลึก และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากชานานาชนิด ช่วยสร้างรายได้ และสร้างชื่อให้ไร่ชาฉุยฟงเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย
|
|
ห้องพักสามารถเปิดดูวิวของไร่ชาได้ |
|
|
“เราเพิ่งจะเปิดตัวไม่นาน ทว่าผลตอบรับดีมาก คนมาเที่ยวเยอะเพราะอยากจะมาถ่ายภาพตามละครที่เขาชื่นชอบ ประกอบกับกระแสรักสุขภาพ ทำให้นักท่องเที่ยวอยากจะมาดื่มชา และพักผ่อนในทัศนียภาพที่สวยงาม” ทายาทธุรกิจกล่าว
|
ปัจจุบันไร่ชาฉุยฟงมีคนงานประมาณร้อยกว่าคน กำลังผลิตชากว่า 40-50 ตันต่อเดือน มาตรฐานผลิตระดับสากล ผลิตภัณฑ์กว่า 50% ขายส่งให้โรงงานผลิตเครื่องดื่มน้ำชาเขียวยักษ์ใหญ่เกือบครบทุกยี่ห้อ อีกทั้งส่งออกต่างประเทศ เช่น ไต้หวัน ญี่ปุ่น เป็นต้น นอกจากนั้นมีขายปลีกภายใต้แบรนด์ตัวเองผ่านหน้าร้านตามห้างสรรพสินค้า และงานสินค้าชุมชนต่างๆ
|
|
ร้านชา มีอาหารและเครื่องดื่มไว้บริการนักท่องเที่ยว |
|
|
สุบินกล่าวในตอนท้ายเชื่อว่าตลาดชาเขียวในเมืองไทยยังเติบโตได้อีกมากตามกระแสใส่ใจสุขภาพที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับการนำเกษตรอินทรีย์มาเพิ่มมูลค่า เสริมด้วยการทำตลาดผ่านการท่องเที่ยว ช่วยให้ธุรกิจมีฐานลูกค้าที่กว้าง และแข็งแกร่งกว่าที่ผ่านมา |
No comments:
Post a Comment