5/18/2011

ลิ้นจี่ ต้านมะเร็งเต้านม

ลิ้นจี่ Litchi chinensis Sonn.
ชื่ออื่น Lychee ลี่จือ (จีน) Alupag (ฟิลิปปินส์) เป็นพืชชนิดเดียวของจีนัส Litchi ในวงศ์ Sapindacese
ลิ้นจี่เป็นไม้เขตร้อนมีต้นกำเนิดที่ประเทศจีนตอนใต้ ไปถึงทางใต้ของประเทศอินโดนีเซียและทางตะวันออกของหมู่เกาะฟิลิปปินส์ ปัจจุบันมีการปลูกลิ้นจี่ทางตอนใต้ประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย

ชื่อลิ้นจี่ในภาษาจีนมีความหมายว่า " ของขวัญเพื่อชีวิตที่เบิกบาน" ปัจจุบันเป็น "ผลไม้แห่งห้วงรัก" ของจีน

ลักษณะทั่วไป
ลิ้นจี่เป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลางมีความสูงประมาณ ๑๑-๑๒ เมตร แตกกิ่งก้าน บริเวณยอดกลม
ใบ เป็นใบประกอบคล้ายขนนก ใบหนา รูปใบรี ขอบใบขนาน ลักษณะคล้ายหอก ปลายใบแหลม ใบดกหนาทึบ ผิวใบมัน
ดอก ออกดอกเป็นช่อ ดอกย่อยมีขนาดเล็ก
ผล รูปร่างกลมรี ผิวผลคล้ายหนังขรุขระสากมือ คล้ายมีหนามขนาดเล็ก ผลอ่อนมีสีเขียว ผลแก่จัดมีสีแดงและแดงคล้ำตามลำดับ เนื้อในสีขาว มีรสหวานอมเปรี้ยว เมล็ดเดี่ยวมีสีน้ำตาลแดงแข็ง
ส่วนที่ใช้ เนื้อผล เปลือกผล เมล็ด เปลือกต้น ราก

ประเทศจีนและแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กินเนื้อผลสุก เนื้อผลตากแห้ง หรือเนื้อผลลิ้นจี่บรรจุกระป๋อง
ราวร้อยกว่าปีมาแล้วประเทศจีนดองลิ้นจี่ทั้งเปลือก ในน้ำเกลือบรรจุไหส่งเป็นสินค้าออกไปกับเรือเดินสมุทร มาขายในประเทศไทย กว่าจะมาถึงก็เริ่มเปลี่ยนสภาพเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้ว
ประเทศไทยกินลิ้นจี่สด ลิ้นจี่กระป๋อง นำลิ้นจี่มาทำเป็นเครื่องดื่ม ไอศกรีม และใช้ประกอบอาหารคาวบ้างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซีกโลกตะวันตกและสหรัฐอเมริกากินลิ้นจี่เป็นส่วนประกอบของอาหารจานเนื้อสัตว์ ลิ้นจี่เป็นผลไม้มีรสอ่อนจึงเข้าได้กับทั้งเป็ด ไก่ หมู แฮม ปลา และอาหารทะเลอื่นๆ ปรุงเป็นเครื่องดื่ม กวนแยม ใส่ใน สลัด ทำไอศกรีม ปรุงอาหารเบเกอรี่ เข้าในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น ลิ้นจี่มาร์ตินี่ ปรุงเป็นลูกกวาดและ ขนมหวานต่างๆ นอกจากนี้ ที่จีนยังใช้ลิ้นจี่แห้งเพิ่มความหวานให้ชาแทนการเติมน้ำตาล

คุณค่าทางอาหาร
ลิ้นจี่เป็นผลไม้ที่มีรสหวานอมเปรี้ยว มีกลิ่นหอมหวานชวนกิน คนไทยกินผลสด และนำลิ้นจี่มาทำเป็นน้ำผลไม้ดื่มแก้กระหายน้ำ รสชาติหอมหวานชื่นฉ่ำใจ

ลิ้นจี่เป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามิน และน้ำตาล มีน้ำมันหอมระเหย และมีกรดอินทรีย์บางชนิด วิตามิน บี 1 ในลิ้นจี่ช่วยป้องกันโรคเหน็บชา วิตามินบี 2 ช่วยให้ ร่างกายเจริญเติบโตป้องกันไขมันอุดตันหลอดเลือด แคลเซียมเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง อีกทั้งยังมีไนอะซีน ช่วยเปลี่ยนน้ำตาลและไขมันให้เป็นพลังงานช่วยระบบย่อยอาหาร

ลิ้นจี่เป็นผลไม้ที่เหมาะสมกับการรักษารูปร่าง ลิ้นจี่ 1 ถ้วย (6 ผล ไม่แกะเมล็ดออก) ให้พลังงานเพียง 125 แคลอรี มีไขมันน้อยกว่า 1 กรัม ลิ้นจี่มีวิตามินบี 2 โพแทสเซียม และมีวิตามินซีสูงมาก กินลิ้นจี่เพียงวันละ 3 ผลก็ได้วิตามินซีครบถ้วนตามความต้องการใน 1 วัน เนื่องจากวิตามินซีเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญ ช่วยบำรุงหลอดเลือด กระดูกและฟัน ในฤดูลิ้นจี่จึงควรกินลิ้นจี่แทนวิตามินซีสังเคราะห์สักระยะหนึ่ง

เนื้อในผล กินเป็นยาบำรุง แก้อาการไอเรื้อรัง แก้อาการคัดจมูก รักษาอาการท้องเดิน ลดกรดในกระ-เพาะอาหาร และบรรเทาอาการไม่ปกติของระบบทางเดินอาหาร
ประเทศจีนใช้ชาเปลือก ลิ้นจี่บรรเทาอาการหวัด แก้การติดเชื้อในลำคอ อาการท้องเสียอย่างอ่อน และโรคจากการติดเชื้อไวรัส เมล็ดมีฤทธิ์แก้ปวดบวม โดยใช้บดเป็นผงชงน้ำดื่ม หรือใช้พอกบริเวณมีอาการ ชาต้มรากลิ้นจี่หรือเปลือกต้นใช้แก้อาการติดเชื้อ ไวรัส อีสุกอีใส และเพิ่มความสามารถระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ลิ้นจี่มีปริมาณเส้นใยอาหารสูง มีปริมาณพลังงาน ต่ำ และเชื่อกันว่ามีคุณสมบัติช่วยเผาผลาญสารอาหารในร่างกายอย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันจึงมีการกล่าวอ้างถึงสรรพคุณลิ้นจี่ในผลิตภัณฑ์ช่วยควบคุมอาหารและ ลดน้ำหนัก แต่ไม่พบที่มาของสรรพคุณในการเผาผลาญสารอาหารดังกล่าว

ลิ้นจี่ต้านมะเร็งเต้านม
เนื้อลิ้นจี่และเปลือกลิ้นจี่มีสารฟลาโวนอยด์หลายชนิด งานวิจัยจากประเทศจีน 2 ชิ้นพบว่าส่วนเพอริคาร์พ (เปลือกและเนื้อผล) ของลิ้นจี่มีสารกลุ่มฟลาโวนอลที่สำคัญคือ โพรไซยาไนดินบี 4 ไพรไซยา- ไนดินบี 2 และอีพิคาเทชิน ส่วนแอนโทไซยานินที่สำคัญคือ ไซยาไนดิน3- รูตินโนไซด์ ไซยาไนดิน-3กลูโคไซด์ เควอเซทิน-3- รูติโนไซด์ และเควอเซทิน-3-กลูโคไซด์ สารเหล่านี้แสดงฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่นที่ดี โดยในกลุ่มฟลาโวนอลพบว่าโพรไซยาไนดินบี 2 กำจัดไฮดรอกซี่เรดิคัลและซูปเปอร์-ออกไซด์แอนอิออนได้ดีที่สุด
ส่วนโพรไซยาไนดินบี 4 โปรไซยาไนดินบี 2 และอีพิคาเทชินมีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งชนิดอื่นๆ อีก และมีพิษต่อเซลล์ปกติน้อยกว่ายาพาซิทาเซลที่ใช้ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ มีรายงานว่าสารสกัดเพอริคาร์พของลิ้นจี่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเซลล์ มะเร็งเต้านม ทั้งในห้องทดลองและในสัตว์ทดลอง โดยยับยั้งการขยายจำนวนเซลล์ การควบคุมการสื่อสารระหว่างเซลล์มะเร็ง การสร้าง mRNA และเหนี่ยวนำให้เกิดการตายของเซลล์มะเร็งดังกล่าวแบบอะป๊อบโทซิสในระดับยีน และยับยั้งผลต่อเนื่องในการแทรกตัว การยึดเกาะพื้นผิวของเซลล์มะเร็ง พบว่าขนาดของก้อนมะเร็งเต้านมในหนูทดลองลดลงร้อยละ 41 เมื่อได้รับสารสกัดเอทานอล ของเพอริคาร์พของลิ้นจี่ ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการพิจารณาผลิตเป็นอาหารเสริมให้กับผู้ป่วยมะเร็ง

งานวิจัยอีกชิ้นจากประเทศจีนรายงานว่า สารสกัดจากลิ้นจี่ยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งของผู้ป่วยที่เมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน สาธารณรัฐประชาชนจีน รายงานจากสหรัฐอเมริกาพบว่าสารสกัดลิ้นจี่ลดขนาดเนื้องอกในสัตว์ทดลอง

มีรายงานว่าสารสำคัญในลิ้นจี่ดูดซึมได้ยาก ที่ประเทศญี่ปุ่นจึงผลิตสารสำคัญให้มีขนาดเล็กลง (ความลับทางการค้า) เพื่อจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ แต่วันนี้จะขอแนะนำรายการเพิ่มการดูดซึมของสารสำคัญ ทำได้ง่ายๆ คือนำลิ้นจี่ไปปรุงอาหารกับอะไรที่มีไขมันนิดหน่อยจะทำให้ดูดซึมเข้าสู่ร่าง กายได้ดีขึ้น

ลองสูตรโคลล์สลอว์จากอินเทอร์เน็ตเผื่อเด็กในบ้านจะติดใจ ได้ทั้งผักได้ทั้งลิ้นจี่ค่ะ

ขอบคุณข้อมูลภายใต้ความร่วมมือของหมอชาวบ้าน กับเว็บไซต์วิชาการดอทคอม
www.doctor.or.th


แนะนำ โรงแรมดีๆ ของจังหวัดเชียงใหม่

แนะนำ โรงแรมดีๆ ของจังหวัดเชียงราย



แนะนำ โรงแรมดีๆ ของกรุงเทพ



แนะนำ โรงแรมดีๆ ของจังหวัดภูเก็ต



แนะนำ โรงแรมดีๆ ของภาคเหนือและภาคกลาง



เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ปาย น่าน สุโขทัย - บริการเที่ยวทั่วไทย แท็กซี่ จัดทัวร์ พร้อมทั้งให้คำแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ จองตั๋วเครื่องบินราคาถูก จองที่พัก

ติดต่อ เพ็ญนภา (แก้ว) 081 498 0613
อีเมล์: neomart@gmail.com

No comments: