9/07/2015

อ้อย-ฐิตินาถ ณ พัทลุง เป็นหนี้เกือบพันล้าน สามีตาย ตอนอายุ 25 ทั้งที่ลูกอายุไม่ถึงขวบ

เป็นหนี้เกือบพันล้าน สามีตาย ตอนอายุ 25 ทั้งที่ลูกอายุไม่ถึงขวบ 

ใครจะรู้ว่า วันหนึ่งที่ทุกอย่างในชีวิตดับวูบลง กลับเป็นวันเริ่มต้นที่ดี ทำให้ชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งที่มีนามว่า “อ้อย-ฐิตินาถ ณ พัทลุง” เจ้าของธุรกิจร้านเพชร “Working Diamond” ซึ่งเธอได้พบกับแสงสว่างแห่งความสุขที่ซ่อนอยู่ เป็นความสุขที่เธอบอกว่า วัดไม่ได้จากตัวเลข จนวันนี้ชีวิตของเธอไม่ต้องการอะไรอีกแล้ว

“อ้อย เป็นคนหาดใหญ่ เรียนเก่งมาตลอด ตอนเรียนมัธยม แอบไปขอวีซ่าเพื่อต้องการไปเรียนที่อังกฤษ พอได้ไปเรียนที่นั่นทำให้อ้อยรู้ว่า ฝรั่งร้ายกาจมาก เค้าสอนวิธีการที่ทำให้บริษัทเจริญเติบโต คือ ต้องกู้เงิน เพราะต้นทุนจะต่ำ ก็เถียงไปว่า พ่อแม่สอนมาตั้งแต่เด็กว่า กู้เงินจะทำให้เครียด มันเป็นต้นทุนทางใจ แต่เขาวัดที่ตัวเลข ไม่ได้วัดที่ความสบายใจ อาจารย์ที่สอนเลยให้ผ่านหมด แล้วไล่เรากลับประเทศ เพราะสอนอะไรเราก็ไม่เห็นด้วยสักอย่าง แต่อ้อยก็ศึกษาเล่าเรียนจนกระทั่งคว้าปริญญาโท 2 ใบภายในอายุ 20 ปีเท่านั้น”

พออ้อยอายุได้ 22 ปี ก็วางแผนซื้อรถเบนซ์ของตนเอง

ตอนนั้นมีความมั่นใจสูงมากค่ะ เหมือนโลกทั้งใบอยู่ในมือเรา เพราะเราเพิ่งเริ่มทำธุรกิจร้านเพชร (Working Diamond) และสามีก็ดีกับเรามาก เขามีธุรกิจบ้านจัดสรร โรงแรมทางใต้ ส่วนเราก็ทำร้านเพชร ซึ่งเราตกลงกันกับสามีว่า จะตั้งใจทำงานเต็มที่แค่ 7 ปี พอมีเงินถึงพันล้าน จะวางมือจากการทำงานแล้วไปหาความสุขด้วยการตระเวนเที่ยวแทน”

 “แต่แล้วก็มีจุดหักเห สมัยที่สามีอ้อยยังมีชีวิตอยู่ สามีไปสร้างหนี้ไว้มาก แต่ไม่บอกเราสักคำ พอสามีตาย ธุรกิจก็เริ่มแย่ลง คราวนี้หนี้ก็ผุดขึ้นมาเกือบพันล้าน ครั้นพอถึงวันจัดงานศพสามี บรรยากาศในงานมีแต่เจ้าหนี้มาทวงเงินเต็มไปหมด ตอนนั้นเราทำอะไรไม่ได้ ร้องไห้อย่างเดียวเลย จนมีคนเข้ามาทักว่า ถ้าไม่อยากล้มละลายให้ไปปฏิบัติธรรม 

“วินาทีนั้น มันเหมือนจุดประกายให้เล็กว่า อย่างน้อยในโลกใบนี้ ก็ยังมีสิ่งสวยงามอยู่ อย่างที่เขาบอกกันว่า มีแก้ว 1 ใบ มีน้ำอยู่ครึ่งแก้ว คนส่วนใหญ่มักคิดกันว่าทำอย่างไรให้น้ำเต็มแก้ว แต่ไม่มีใครคิดว่าจะคุมขนาดแก้วให้เล็กลงได้อย่างไร ในทางกลับกันศาสนาพุทธสอนให้คุมขนาดแก้ว ด้วยวิธีคุมความอยาก ลดความอยากได้ชีวิตก็มีความสุข เพราะคนเราคิดแต่จะเติมน้ำ แต่ไม่เคยคิดจะลดขนาดของแก้วลง มันเหมือนมีประตูกลซึ่งถ้าเราเปิดเข้าไปเราก็จะเจอกับความสุขนั้นเอง”


หลังจากที่ได้ปฏิบัติธรรมแล้ว อ้อยก็จ่ายหนี้หมดภายในระยะเวลาอันสั้นคือ 2 ปีเท่านั้น ด้วยการขายบ้าน 3 หลัง ขายรถ ขายที่ดิน เหลือแค่บริษัท แต่ ณ วันนี้ขายธุรกิจเพชรให้กับ “ทิพย์ -สุพรทิพย์ ช่วงรังษี” แล้ว จากนั้นอ้อยก็ไปอยู่กับลูกที่หัวหิน แต่ก็ยังเจอคุณทิพย์อยู่ตลอดที่สถานปฏิบัติธรรม และยังไปบรรยายธรรมด้วยกันบ่อย ๆ เวลานี้ ก็ใช้เวลาไปกับการบรรยายธรรมสอนเด็ก ทหาร ตำรวจ พระ เณร 


ซึ่งภายหลังจากที่ อ้อยได้ค้นหาธรรมในใจและค้นพบวิถีชีวิตของตัวเองแล้ว ล่าสุดอ้อยได้เขียนหนังสือ “เข็มทิศชีวิต” บอกเล่าเรื่องต่างๆของชีวิตตนเอง เพราะเธอคิดว่าชีวิตคนมันวนเวียน อยู่กับสิ่งอบายมุข และเธอต้องการ เขียนหนังสือเพื่อให้คนอ่านได้รู้วิธีเปิดประตูกล รู้ทันความคิดของตัวเอง

"วันที่สามีตายเป็นวันขึ้นปีใหม่ ปรากฏว่าทันทีที่ธนาคารกับผู้ถือหุ้นในบริษัทรู้ว่าเขาตายไม่มีใครฉลองปีใหม่เลย มาที่ศาลาสวดศพกันหมดคาดคั้นว่าฉันต้องได้เท่านี้ ๆ ฉันต้องได้ 7 ล้านเดี๋ยวนี้ ของฉันต้อง 20 ล้านเดี๋ยวนี้ วันนั้นจำได้เลยว่าร้องไห้ที่หน้าโลงศพแล้วบอกเขาเลยว่าถ้าจะเอาวันนี้ให้เอาชีวิต ให้เอาวิญญาณไปเลย จะตายให้เดี๋ยวนี้ ยิ่งตอนหลังเจ้าหนี้มันเยอะมากและเริ่มรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ เราเลยไม่ได้สวดศพถึง 3 วันด้วยซ้ำ พอสวดได้ถึงวันที่ 2 มันรู้สึกแย่มาก ๆ รุ่งเช้าก็เลยเผาเลยโดยที่ไม่ได้บอกใครเพราะมันไม่ไหวแล้ว คุณแม่ก็บอกว่าลูกไม่ต้องอยู่แล้ว ไม่ต้องสนใจเผาเดี๋ยวนี้เลย แล้วขึ้นเครื่องบินไปไหนก็ได้ที่ไม่ต้องเจอใคร ทันทีที่ขึ้นเครื่องบินเป็นขณะแรกที่ได้อยู่คนเดียวกับลูก ก็นั่งร้องไห้ตลอดเวลาในเครื่องบิน ตอนนั้นลูกชายเพิ่งอายุ 11 เดือนเพิ่งจะนั่งได้ พอแอร์โฮสเตสเอาก้อนขนมปังกลม ๆ มาวางให้ เขาก็หยิบเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วก็บี้ให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ ป้อนเข้าปาก โห ตอนนั้นรู้สึกเลยว่าลูกรู้นะว่าเราทุกข์มาก สงสารลูกเลย คือตอนนั้นเราแย่มาก ๆ เราไม่รอดแน่ แต่พอวินาทีที่เขาเอาขนมปังป้อนเข้าปากเรามันรู้สึกเลยว่าไม่ว่ายังไงเราตายไม่ได้ เราต้องอยู่ให้ได้เพื่อเขา"

ดังนั้นเมื่อตัดสินใจเดินทางกลับกรุงเทพฯ เริ่มต้นเผชิญกับปัญหาและตั้งต้นดำเนินธุรกิจอีกครั้ง ทั้งนี้ก็เพื่อปลดภาระหนี้สินให้ได้เร็วที่สุด ซึ่งในระหว่างนั้นเองฐิตินาถก็ก้าวเข้าสู่โลกของการปฏิบัติธรรมตามคำชักชวนของกัลยาณมิตรและออกเดินสายบรรยายธรรมะควบคู่ไปด้วย ปัจจุบันนอกจากเธอจะสามารถลบล้างหนี้สินนับร้อยล้านบาท ธุรกิจที่พลิกฟื้นสามารถดำเนินไปได้ด้วยดีอีกครั้ง

จนเมื่อปลายปีที่ผ่านมาในวันที่เธอคิดว่ามีเงินเก็บมากพอที่จะใช้จ่ายสำหรับตัวเองและลูกไปได้ทั้งชีวิตอย่างไม่ฟุ่มเฟือย ฐิตินาถตัดสินใจขายกิจการที่มีผลประกอบการดีวันดีคืนนั้นเพื่อเกษียณตัวเองในวัย 35 ปี กลายเป็นคนเดินช้าและมีเวลาได้ปฏิบัติธรรมมากขึ้น

"วันหนึ่งรู้สึกพอแล้ว ทำงานเป็นเจ้าของบริษัทมาเป็นสิบปี พอหยุดก็คิดว่าแล้วการบรรยายล่ะ อาทิตย์หนึ่งบางทีตั้ง 40-50 คิว ก็คิดว่าเราน่าจะฝากอะไรให้คนอื่น ตอนนี้หลายคนทุกข์เหมือนเราเมื่อ 7 ปีที่แล้วแต่เขาอาจไม่แย่เท่าเราในจุดเริ่มต้น ถ้าเราบอกแผนที่ให้เขาว่าชีวิตมีทางออกหากได้ลองปฏิบัติจริง ๆ ก็เลยตั้งใจว่าจะเอาสิ่งที่ตัวเองใช้มาตลอด 7 ปีในการแก้ปัญหาหนี้ทั้งหมด ตลอดจนวิธีการหาสตางค์ว่ามันมีกระบวนการขั้นตอนยังไง เก็บเงินยังไง แล้วต่อไปจะดำรงชีวิตยังไง บอกละเอียดหมดเลยทุกอย่าง"

นั่นคือที่มาที่ไปก่อนที่จะออกมาเป็นหนังสือเล่มนี้ ด้านหนึ่งของความตั้งใจคือ ฐิตินาถต้องการให้"เข็มทิศชีวิต" เป็นหนังสือ How to ของคนไทยสำหรับคนไทยโดยเฉพาะ เพราะก่อนหน้านี้เธอสงสัยมาตลอดว่าทำไมคนไทยต้องอ่าน How to ของฝรั่งตลอด ทั้งที่องค์ความรู้ทางตะวันออกหรือของไทยเองมีสิ่งที่ดีที่สุดอยู่แล้ว หลายสิ่งที่พูดกันก็เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสมาแล้ว 2,500 กว่าปี
เธอยกตัวอย่างบางส่วนจากจดหมายที่เข้ามาว่าหลายคนนำเอาบทเรียนและองค์ความรู้ที่ได้จากหนังสือเล่มนี้เป็นเข็มทิศช่วยนำทางชีวิตให้ดำเนินต่อไปได้แม้จะเผชิญกับวิกฤต

"แต่ก่อนไม่เคยรู้เลยว่าคนไทยมีความทุกข์มหาศาลขนาดนี้ มีผู้ชายคนหนึ่งประสบปัญหาเศรษฐกิจ อายุ 30 ปีเป็นหนี้ 200 ล้าน แล้วพอลอยตัวค่าเงินบาทเขาเสียทุกอย่างเลย เสียบริษัท แล้วเมียไปมีผู้ชายอื่น คือมันหมดเลย หรือมีผู้หญิงคนหนึ่งเขียนมาบอกว่าเมื่อวานนี้เพิ่งรู้ว่าสามีเป็นเอดส์ โชคดีตัวเธอเองไม่เป็น แต่สามีเป็นนักธุรกิจใหญ่เรียกว่าล้มทั้งยืนเลย เพื่อนก็ให้หนังสือเล่มนี้มาอ่าน ทำให้รู้เลยว่าบางทีโชคร้ายมันเป็นจุดเริ่มต้นของโชคดี ถ้าเป็นเมื่อก่อนอาจจะดำเนินชีวิตไปแบบมั่ว ๆ แต่พอสามีเป็นเอดส์ปุ๊ป เธอบอกวันนี้เธอรู้แล้วว่าจะดำเนินชีวิตกับลูก กับสามีต่อไปยังไง สำหรับเรามันเป็นความรู้สึกที่ดีมาก ๆ"

ถ้าใครคิดว่าเปิดหนังสือเล่มนี้แล้วจะได้รู้ถึงวิธีการหาเงินล้านเพื่อปลดหนี้ก็อาจจะต้องผิดหวัง เพราะสาระสำคัญที่ฐิตินาถต้องการจะสื่อผ่านหนังสือเล่มนี้ก็คือ เธอบอกว่าความทุกข์เกิดที่ใจ ดังนั้นขอเพียงคนเรารู้เท่าทันใจตัวเองตลอดเวลาความทุกข์ก็ไม่มีโอกาสจะเข้ามาทำร้ายเราได้ แต่เมื่อใดก็ตามที่เราไม่รู้ตัว เผลอ หรือหลงไป เมื่อนั้นก็เป็นจังหวะที่ความทุกข์สามารถจะแทรกซึมเข้ามา เพราะฉะนั้นนอกเหนือจากนี้ "ความรู้สึกตัว" จึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เธอเน้นย้ำ สังเกตได้จาก "เข็มทิศ" ที่เธอแทรกไว้ตลอดเวลาในหนังสือ ทั้งนี้เพื่อสร้างความรู้สึกตัว สะกิดเตือนไม่ให้ผู้อ่านหลงจมอยู่แต่กับตัวหนังสือตรงหน้า
"เริ่มต้นจะค่อย ๆ ให้เขาตื่น ค่อย ๆ รู้สึกตัว พอเขาอ่านก็มีเข็มทิศเตือนเป็นช่วง ๆ ว่าตอนนี้ใจไหลมาเกาะที่หนังสือแล้วนะ ก็จะเหมือนกับตื่นขึ้นมาแวบหนึ่ง ทำให้รู้ว่าเวลาที่เราหลงมันเป็นอย่างนี้เอง พอตื่นมันเป็นอย่างนี้เอง ให้เขารู้สึกว่าการตื่นหรือการรู้สึกตัวมันง่าย ๆ อย่างนี้เอง" 
วิธีการส่วนใหญ่ของหนังสือเล่มนี้คือจะเริ่มต้นด้วยเรื่องเล่าหรือนิทาน ทั้งนี้ก็เพื่อขยายความจากสารที่ต้องการจะเสนอ เช่นเรื่อง "นักบวชกับจีวร" ที่เล่าถึงพระบวชใหม่รูปหนึ่งภาวนาอยู่รูปเดียวในกุฏิชายป่า วันหนึ่งมีหนูมากัดจีวร แทนที่พระจะแก้ปัญหาด้วยตัวเองโดยการเก็บจีวรให้พ้นหนูหรือป้องกันหนูเข้ามา พระรูปนั้นกลับไปขอแมวมาใช้จับหนู เมื่อมีแมวก็ต้องมีนมให้แมวกิน เมื่อคร้านที่จะไปขอนมจากชาวบ้านทุกวันท่านก็แก้ปัญหาด้วยการไปขอวัวมาเลี้ยง ต่อมาจึงต้องทำหน้าที่ไปหาหญ้าให้วัวกิน จากนั้นจึงว่าจ้างผู้หญิงชาวบ้านมาตัดหญ้าให้วัว นานวันไปไม่อยากเสียค่าจ้างตัดหญ้าก็เลยแต่งงานอยู่กินกับหญิงชาวบ้านนั้น สุดท้ายเลยต้องสึกออกมาทำมาหากิน

"ตอนที่เขียนเล่มนี้คาดหวังให้คนอ่าน ๆ แล้วมีความสุขทันทีในขณะนั้น อ่านแต่ละหน้า พอเขาอ่านจบก็อยากให้เขาเริ่มมองเห็นว่าชีวิตมีทางออก แล้วมันมีขั้นตอนง่าย ๆ ที่เขาอาจเคยรู้สึกว่าชีวิตไม่มีทางออกเหมือนถูกตรึงเอาไว้หรือการเข้ามาศึกษาธรรมะเป็นเรื่องยุ่งยาก ต้องการให้เขาเห็นว่ามันมีขั้นตอนง่าย ๆ ที่ใคร ๆ ก็ปฏิบัติได้ ไม่ว่าเขากำลังมีความทุกข์หรือมีความสุข"

นอกจากนี้เธอยังบอกด้วยว่าต้องการให้หนังสือเล่มนี้เป็นดั่งคู่มือการใช้ชีวิตที่ครอบคลุมชีวิตทุกด้าน ตั้งแต่การบริหารจัดการชีวิตในภาพรวม ความสัมพันธ์ หรือการทำงาน

โดยส่วนตัวฐิตินาถบอกว่าเธอไม่เคยเชื่อว่าในแนวคิดที่ว่าการทำธุรกิจคือธุรกิจ หรือทำธุรกิจเพื่อธุรกิจ เพราะกล่าวถึงที่สุดแล้วชีวิตคือภาพรวม การบริหารจัดการชีวิตคือองค์รวม ไม่ต่างจากที่เราจัดพอร์ตหุ้น จัดพอร์ตบัญชี แต่นั่นทำให้เราคิดออกไปข้างนอกตลอดเวลา เราจัดการได้ทุกอย่างแต่เรายุ่งจนลืมที่จะจัดพอร์ตชีวิตของเรา เราลืมที่จะบริหารจิตใจตัวเอง ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

วันนี้หลังจากที่ฐิตินาถได้ใช้ชีวิตในวิถีที่เธอต้องการ ในขณะที่หนังสือ "เข็มทิศชีวิต" เล่มนี้ยังทำหน้าที่ดังบทแนะนำให้สำหรับหลายชีวิตในสังคม "ถ้าถามวันนี้ก็ต้องนึกขอบคุณกับทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะถ้ามันไม่เกิดวันนี้เราก็ไม่ได้มีชีวิตที่ดีอย่างนี้ แล้วก็เป็นจุดที่รวบรวมความกล้าหาญมาเขียนหนังสือบอกทุกคนว่า ไม่ว่าเขาเจอปัญหาอะไรอยู่ก็ตาม เขาสามารถพลิกมันให้เป็นประตูไปสู่ชีวิตที่ดีที่สุดแบบที่เขาไม่เคยนึกฝัน

No comments: