Posted by สอนสุพรรณ , ผู้อ่าน : 3841 , 06:53:26 น. from OKnation.net
เทือกเขาถนนธงชัย ซึ่งมีภูเขาสูงชัน น้อยใหญ่ สลับซับซ้อนและหลากหลายเรียงรายทอดยาวลงไปถึงดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง ผ่านอำเภอเมืองเชียงใหม่ ด้านทิศตะวันตกบนเทือกเขาเหล่านั้นจะเป็นที่ประดิษฐานขององค์พระเจดีย์สำคัญและเก่าแก่ คู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ถึง ๒ องค์พระเจดีย์ แต่ละแห่งถูกสถาปนาขึ้นโดยพระมหากษัตริย์ในสมัยหริภุญชัยและล้านนาตามลำดับดังนี้
พระเจดีย์แห่งแรก อยู่บนยอดเขาเล็ก ๆ สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ ๒๐๐ เมตร อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของตัวเมืองเชียงใหม่ เรียกว่า “พระธาตุดอยคำ” เคยเป็นที่อยู่อาศัยของยักษ์ ๒ ผัวเมีย ชื่อ จิคำและตาเขียวมาก่อน
ซึ่งต่อมาชาวบ้านได้เรียกยักษ์ทั้งสองนี้ว่า “ปู่แสะ – ย่าแสะ” ปู่แสะย่าแสะมีลูก ๑ คน ชื่อว่า “สุเทวฤๅษี” เหตุที่ได้ชื่อว่าดอยคำ เนื่องจากศุภนิมิตที่ยักษ์ทั้งสองได้รับพระเกศาธาตุจากพระพุทธเจ้า เกิดฝนตกหนักหลายวัน ทำให้น้ำฝนเซาะและพัดพาแร่ทองคำบนไหล่เขา และลำห้วยไหลลงสู่ปากถ้ำเป็นจำนวนมาก จึงเรียกภูเขาลูกนี้ว่า“ดอยคำ”
รูปปั้นปู่แสะ และ ย่าแสะ
จากตำนานหลายฉบับได้กล่าวว่า เทวดาได้นำพระเกศาธาตุที่พระพุทธเจ้าได้ประทานแก่ปู่แสะและย่าแสะ นำขึ้นมาฝังและก่อสถูปไว้บนดอยแห่งนี้ และต่อมาในปี พ.ศ. ๑๒๓๐ เจ้ามหันตยศ และเจ้าอนันตยศ ๒ พระโอรสแฝดของพระนางจามเทวี แห่งหริภุญชัยนครได้ขึ้นมาก่อเจดีย์ครอบพระสถูปเกศานั้นไว้
ส่วนพระเจดีย์แห่งที่ ๒ ตั้งอยู่บนยอดเขาสูง ทางทิศเหนือของดอยคำ มีความสูงถึง ๑,๐๕๓ เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยพระเจ้ากือนา กษัตริย์แห่งราชวงศ์เม็งราย และพระมหาสุมนเถระ ได้อัญเชิญพระบรมธาตุที่ได้มาจากเมืองปางจา จังหวัดสุโขทัย ขึ้นมาฝังและก่อเจดีย์ครอบไว้เมื่อปี พ.ศ. ๑๙๑๔ และเรียกว่า “พระธาตุดอยสุเทพ” ตามชื่อของสุเทวฤๅษีที่บำเพ็ญพรตอยู่หลังเขาแห่งนี้
พระเจดีย์ทั้งสองแห่งนี้ เป็นเจดีย์ที่เก่าแก่ของเมืองเชียงใหม่ แม้จะมีอายุการสถาปนาห่างกันเกือบ ๗๐๐ ปี แต่ก็มีความใกล้ชิดผูกพันกันมาตั้งแต่โบราณกาล จากการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจะพบว่า ยอดเขา – หุบเขาและเชิงเขาดอยสุเทพและดอยคำ ล้วนเป็นถิ่นกำเนิดและที่อยู่อาศัยของชนเผ่าลัวะมาก่อน ถือว่าเป็นลูกหลานของปู่แสะและย่าแสะ ผู้ซึ่งได้รับพระเกศาธาตุจากพระพุทธเจ้าโดยตรง และชนเผ่าลัวะมีความเลื่อมใสมั่นคง และผูกพันกับพระพุทธศาสนามาตลอดอย่างมิได้ขาด และถือได้ว่าพระเจดีย์ทั้งสองนี้ ต่างเป็นพระเจดีย์พี่เจดีย์น้องกันก็ไม่ผิด พระบรมธาตุประดิษฐานไว้ในผอบแก้ว ตั้งอยู่ในปราสาทเล็กกลางพระวิหาร พระเจดีย์ที่บรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า ซึ่งพระโอรสแฝดของพระนางจามเทวีได้ขึ้นมาบูรณะและขยายให้ใหญ่ขึ้นในปี พ.ศ. ๑๒๓๐ พระธาตุดอยคำ ตั้งอยู่บนเทือกเขาเล็ก ๆ ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองเชียงใหม่ ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๑๐ กม. ภูเขาที่ตั้งของพระธาตุดอยคำ เป็นป่าเขาเขียวขจีมีทัศนียภาพที่สวยงาม ด้านล่างเป็นสวนราชพฤกษ์ ๒๕๔๙ (พืชสวนโลก) และอยู่ใกล้เคียงกับเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี (สวนสัตว์กลางคืน) เป็นปูชนียสถานสำคัญและเก่าแก่แห่งหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ มีอายุมากกว่า ๑,๓๐๐ ปีพระพุทธองค์เสด็จสู่ดอยคำ ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๑ ในระมิงคนคร มียักษ์ ๓ ตน พ่อ แม่ ลูก ซึ่งมีเชื้อสายมาจากชนเผ่าลัวะ มีนิวาสสถานอยู่ที่หลังดอยคำ ชาวเมืองทั้งหลายจะเรียกว่า ปู่แสะ ย่าแสะ ปู่แสะมีชื่อว่า จิคำ ส่วนย่าแสะมีชื่อว่า ตาเขียว ยักษ์ทั้ง ๓ พ่อ แม่ ลูก ชอบกินเนื้อมนุษย์เป็นอาหาร จากตำนานวัดดอยคำ เรียบเรียงโดย คุณสุทธวารี สุวรรณภาชน์ พิมพ์ในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ ได้กล่าวว่าในยุคที่ชนเผ่าลัวะทั้งหลายแห่งระมิงคนคร กำลังประสบกับความเดือดร้อนอันเนื่องจากยักษ์ ๓ ตน ที่ดำรงชีพด้วยการกินเนื้อมนุษย์ พระพุทธองค์จึงทรงทราบด้วยญาณอันวิเศษของพระองค์ จึงได้ทรงเสด็จสู่ระมิงคนครเพื่อแสดงธรรมโปรดยักษ์ทั้ง ๓ ตน และบรรเทาความเดือดร้อนของชาวเมืองระมิงค์ เมื่อพระพุทธองค์เสด็จมาถึงนิวาสสถานของ ๓ ยักษ์ พ่อ แม่ ลูก ที่ดอยคำ ทันทีที่ยักษ์ทั้งสามเห็นพระพุทธองค์มาถึง ก็หมายมั่นเตรียมจะจับกินเป็นอาหาร แต่พระพุทธองค์ทรงทราบถึงวิสัยของยักษ์ทั้งสามดี จึงแผ่พระเมตตาไปยังยักษ์ทั้งสามเหล่านั้น ด้วยพระบารมีและบุญญาธิการของพระองค์ ทำให้กระแสจิตของยักษ์ทั้งสามอ่อนลง และเข้ามาก้มลงกราบแทบพระบาทของพระพุทธองค์ และพระพุทธองค์จึงแสดงธรรมโปรดยักษ์ทั้งสาม ปรากฏว่ายักษ์ผู้เป็นลูกยอมปฏิบัติตามและสมาทานศีล ๕ ได้ ส่วนยักษ์จิคำและตาเขียวผู้เป็นพ่อแม่ ไม่สามารถจะรับศีล ๕ ได้ เพราะยังต้องยังชีพด้วยการฆ่ามนุษย์และสัตว์เป็นอาหาร และขออนุญาตกินเนื้อมนุษย์ปีละ ๒ ครั้ง แต่พระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาต จึงต่อรองขอกินเนื้อสัตว์แทน อนุสาวรีย์สุเทวฤาษี ส่วนยักษ์ผู้บุตรนั้นได้ขออุปสมบทเป็นพระภิกษุ พระองค์จึงทรงอนุญาตและได้แสดงธรรมให้ฟัง ยักษ์ผู้บุตรนั้นอยู่ในสมเพศได้ไม่นาน ก็ขออนุญาตพระองค์ลาสิกขา และไปบวชเป็นฤๅษีถือศีลอยู่ที่หุบเขาอุจฉุบรรพต (ดอยสุเทพ) ชื่อ “สุเทวฤๅษี” ก่อนที่พระพุทธองค์จะเสด็จต่อไปยังสถานที่แห่งอื่น พระองค์ได้ประทานพระเกศาแก่ยักษ์ปู่แสะและย่าแสะ พร้อมได้ตรัสว่า “ดูกรเจ้ายักษ์ทั้ง ๒ จงรับและเก็บพระเกศานี้ไว้เคารพบูชาแทนเรา เมื่อเราได้นิพพานไปแล้ว และในวันข้างหน้าจะมีผู้ใจบุญกุศลมาชุมนุมกัน ณ ที่แห่งนี้” ยักษ์ทั้ง ๒ รับเอาพระเกศาจากพระองค์แล้ว เอาไปบรรจุไว้ในผอบแก้วมรกตและบูชากราบไหว้เป็นนิจสิน จึงเกิดศุภนิมิตขึ้นด้วยมีฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน และน้ำฝนได้หลั่งไหลจากภูเขาต่าง ๆ ลงมาชะล้างแร่ธาตุทองคำตามหุบเขาราวห้วย พัดพาทองคำไหลลงสู่ปากถ้ำเป็นจำนวนมาก ผู้คนจึงเรียกภูเขาและถ้ำนี้ว่า ถ้ำคำและดอยคำตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาถึงทุกวันนี้ ต่อมาภายหลังเมื่อยักษ์ผู้บุตร ได้ลาสิกขาออกมาและไปบวชเป็นพระฤๅษีอยู่หลังดอยสุเทพ ยักษ์ผู้เป็นพ่อชื่อ จิคำ ที่ชาวบ้านเรียกว่า ปู่แสะ ก็ไปถือศีลดำรงชีพอยู่บริเวณใกล้ ๆ กับวัดฝายหิน เชิงดอยสุเทพ ส่วนยักษ์ผู้เป็นแม่ชื่อ ตาเขียว ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า ย่าแสะ ได้อยู่ดูแลรักษาถ้ำดอยคำและพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าจนสิ้นชีวิต อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี
จากตำนานท้องถิ่นในภาคเหนือเกือบทุกเล่มกล่าวตรงกันว่า ในปี พ.ศ. ๑๑๖๖ ซึ่งช่วงนั้นท่านสุเทวฤๅษียังอยู่ปฏิบัติบำเพ็ญพรตอยู่หลังดอยสุเทพ วันหนึ่งท่านได้ลงมาเก็บอัฐิของบิดามารดา (ปู่แสะ-ย่าแสะ) ที่บริเวณป่าพะยอม (ปัจจุบันคือตลาดพะยอม) และท่านได้มาพักผ่อนอยู่ที่เชิงดอยคำ
ทันใดนั้น ท่านได้เห็นพญาเหยี่ยวที่กำลังขยุ้มทารกน้อยวัยประมาณ ๓ เดือน โฉบผ่านมาพอดี ท่านจึงได้ตวาดใส่เหยี่ยวตัวนั้นทันที เหยี่ยวตกใจจึงปล่อยทารกน้อยล่องลอยตกลงมายังพื้นดิน เดชะบุญตรงนั้นเป็นสระน้ำขนาดใหญ่ใกล้เชิงดอยคำ
เป็นที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่งที่ดอกบัวใหญ่ในสระน้ำ ได้อ้ากลีบออกรับทารกน้อยนั้นไว้ไม่ให้ตกลงพื้นน้ำ สุเทวฤๅษีก็มหัศจรรย์ใจยิ่งนัก จึงรับทารกน้อยวัย ๓ เดือนมาเลี้ยงดูเป็นบุตรบุญธรรม โดยให้เรียนสรรพวิชาทั้งมวลจนหมดสิ้น รวมถึงศิลปะวิทยาการทำศึก หรือตำราพิไชยสงครามและดนตรีทุกอย่าง
จนกระทั่งทารกน้อยนั้นได้เจริญวัยครบ ๑๓ ปี สุเทวฤๅษีจึงต่อเรือยนต์ใส่กุมารีน้อยพร้อมด้วยฝูงวานรจำนวนหนึ่งเป็นบริวาร ปล่อยไหลล่องลอยไปตามลำน้ำปิงจนถึงเมืองละโว้ ณ ท่าน้ำวัดเชิงท่า (ตำนานบางเล่มบอกว่าวัดชัยมงคล) เมื่อพระเจ้าเมืองละโว้และมเหสีได้เห็นกุมารีน้อย ที่มีพระสิริโฉมงดงามและมีสิริลักษณ์บ่งบอกว่าเป็นผู้มีบุญ จึงได้นำไปเลี้ยงไว้ในพระราชวัง และตั้งเป็นราชธิดา มีนามว่า“จามเทวีกุมารี” และให้ศึกษาศิลปะวิทยาการตำราพิไชยสงคราม และดนตรีทุกอย่างเหมือนกับพ่อเลี้ยงคนแรก (ฤๅษี) จนกระทั่งจามเทวีกุมารี มีพระชนมายุได้ ๒๔ พรรษา เจ้าเมืองละโว้จึงให้สมรสกับเจ้าชายราม แห่งนครรามบุรี ในปี พ.ศ. ๑๑๙๐ รามบุรีเป็นเมืองขึ้นและเมืองหน้าด่านของขอม (ปัจจุบันคือ อ.แม่สอด จ.ตาก) ในปี พ.ศ. ๑๒๐๔ พระเจ้ากรุงละโว้จึงทรงแต่งตั้งให้พระนางจามเทวี ขึ้นครองเมืองหริภุญชัย ตามคำเชิญของสุเทวฤๅษี และสุทันตฤๅษี ซึ่งขณะนั้นพระนางมีพระชนม์ได้ ๓๘ พรรษา หากยืนอยู่ลานชมวิวหน้าวัดพระธาตุดอยคำ จะสามารถมองเห็นทัศนียภาพข้างล่างเป็นบริเวณสวนราชพฤกษ์ ๒๐๐๖ (พืชสวนโลก) ด้านตะวันออกเฉียงเหนือ พระพุทธรูปองค์ใหญ่ ชื่อ "พระพุทธนพีสีพิงครัตน์" |
No comments:
Post a Comment