3/01/2012

สงครามที่ค่ายบางกุ้ง


สมุทรสงคราม เมืองแห่งราชินีกูล
          ค่ายบางกุ้ง ตั้งอยู่ที่ตำบลบางกุ้ง อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลองฝั่งตะวันตก เป็นที่ตั้งกองทัพเรือในครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย สมัยพระเจ้าเอกทัศน์ โดยสร้างค่ายล้อมวัดบางกุ้งไว้ให้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของบรรดาทหารหาญ ครั้นเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า ในปี พ.ศ. 2310 ค่ายนี้ถูกทิ้งร้าง จนเมื่อพระเจ้าตากสินกอบกู้อิสระภาพได้แล้ว ตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานี จึงโปรดให้ชาวจีนรวบรวมกองกำลังตั้งเป็นทหารรักษาค่าย จึงได้ชื่ออีกชื่อหนึ่งว่าค่ายจีนบางกุ้ง

          เหตุเกิดสงครามค่ายบางกุ้ง พ.ศ. 2311 พระเจ้ากรุงอังวะให้เจ้าเมืองทวายยกทัพมาสืบข่าวสภาพบ้านเมืองในสมัยกรุงธนบุรีว่าสงบราบคาบหรือเกิดจลาจล เพราะช่วงนั้นเป็นระยะเวลาที่ไทยเรากำลังผลัดแผ่นดินใหม่ เจ้าเมืองทวายได้ยกพลเดินทัพทางบกเข้ามาทางไทรโยค และให้ยกทัพบกทัพเรือเข้ามาที่ค่ายตอกะออม แล้วเดินทัพล้อมค่ายจีนบางกุ้งไว้ นายทัพพม่าครั้งนั้นชื่อ แมงกี้มารหญ่า มีทหารยกมาด้วย 2 หมื่นคนเศษ ทหารพม่าล้อมค่ายจีนบางกุ้งอยู่นาน 41 วัน ชาวบ้านและทหารไทย-จีนในค่ายได้รับความลำบากมาก พวกชาวบ้านคนชรา ยอมอดอาหารเพื่อให้ทหารไทย-จีนได้กินแทน ออกหลวงเสนาสมุทร (ไต้ก๋งเจียม) กรมการเมืองมีใบบอกเข้าไปยังกรุงธนบุรี ขอกำลังมาช่วยรบพม่า

         ตามพงศาวดารกรุงธนบุรี กล่าวว่า พระเจ้าตากสินทราบข่าวข้าศึก ได้โปรดให้พระยามหามนตรี (บุญมา) จัดกองทัพเรือ 20 ลำ แล้วพระองค์ทรงเรือพระที่นั่งสุพรรณพิชัยนาวา เรือยาว 18 วา ปากเรือกว้าง 6 ศอกเศษ พลกรรเชียง 28 คน พร้อมด้วยศาสตราวุธมมายังค่ายบางกุ้ง โดยลัดมาทางคลองบางบอน ผ่านคลองสุนัขหอน แล้วออกมาแม่น้ำแม่กลอง พระยามหามนตรีคาดการณ์ว่าค่ายบางกุ้งล่อแหลมกำลังจะแตกอยู่แล้ว จึงรีบเร่งเดินทัพ พอไปถึงค่ายบางกุ้งในเวลากลางคืน ยังหัวค่ำอยู่จึงมีบัญชาให้จอดเรือพักอยู่ฝั่งตรงข้ามค่าย (สถานที่ตรงนี้เรียกว่า บ้านพักทัพ ต่อมากลายเป็นบ้านบางพลับ) ครั้นเวลายามสาม เดือนหก จึงยกทัพข้ามฝั่งมาขึ้นตรงท้ายค่ายบริเวณศาลเจ้าไท้เพ่งอ๊วงกงปัจจุบัน

         การรบครั้งนี้ตะลุมบอนกันด้วยอาวุธสั้น พระมหามนตรีควงดาบสิงห์สุวรรณาวุธ ซึ่งทำด้ามและฝักกนกหัวสิงห์ใหม่ไล่ฆ่าฟันพม่าข้าศึกแตกกระจาย แมงกี้มารหญ่าแม่ทัพพม่าครั่นคร้าม พระมหามนตรีจึงลองเชิงดูศึก ได้ยินเสียงในค่ายที่ล้อมไว้จุดประทัดตีฆ้องเปิดประตูค่ายส่งกำลังตีกระทุ้งออกมา ทำให้พม่าอยู่ในศึกกระหนาบ ซ้ำยังเห็นผลคลีมืดครึ้ม ได้ยินเสียงการเคลื่อนไหวทัพหนุนเนื่องของไทยอีก แน่ใจว่าทัพหลวงของไทยยกติดตามมา ยิ่งเสียขวัญ ฝ่ายไทยกลับฮึกเหิมไล่ฟันแทงข้ามศึกล้มตายเป็นอันมาก ที่เหลือตายก็พากันแตกหนี พระยาทวายเห็นเหลือกำลังที่จะต่อสู้ จึงสั่งทัพถอบรวบรวมไพร่พลกลับไปเมืองทวายทางด่านเจ้าขว้าว (เป็นด่านเมืองราชบุรีตั้งอยู่ริมแม่น้ำพาชี) กองทัพไทยได้เรือรบศัตรูทั้งหมด และได้ศาสตราวุธตลอดจนเสบียงอาหารเป็นอันมาก

         ชัยชนะในการรบที่ค่ายบางกุ้งนี้ มีผลต่อชาวไทยหลายประการ อาทิ ไทยยังคงเป็นชาติเอกราชต่อไป ไม่ต้องถูกย่ำยีทำลายล้าง เช่น สงครามเสียกรุงครั้งที่ 2 แต่ถ้าไทยเป็นฝ่ายแพ้ไทยต้องถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลย ทรัพย์สินเงินทองต้องถูกเก็บกวาดไปอีกจำนวนมากเนื่องจากดินแดนทางส่วนนี้ ยังไม่ถูกพม่ากวาดล้างไป ทั้งยังเป็นดินแดนที่มั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ เครื่องบ่งชี้ก็คือบริเวณนี้มีวัดมากมาย แสดงให้เห็นว่าในสมัยอยุธยา หรือก่อนนั้นมีคนร่ำรวยมาก เพราะคนรวยสมันนั้นนิยมสร้างวัด ดังเห็นได้ว่าวัดต่าง ๆ ในจังหวัดสมุทรสงครามมีโบราณสถาน โบราณวัตถุที่ประมาณค่ามิได้มากมาย เช่น พระพุทธรูปในสมัยต่าง ๆ ตั้งแต่สมัยเชียงแสนเป็นต้นมา พระสุวรรณเจดีย์ ตู้พระไตรปิฏก ภาพชุดลายรดน้ำ พระธรรมคัมภีร์จากสมุดข่อย มีภาพระบายสีปิดทอง ตลอดจนภาพจิตรกรรมฝาผนัง เป็นต้น

         สิ่งสำคัญยิ่งอีกประการหนึ่งก็คือขวัญและกำลังใจของคนไทย ในช่วงนั้นนับว่าเกือบจะสูญสิ้นไปหมดแล้ว การรบชนะที่ค่ายบางกุ้งเป็นชัยชนะทางใจของกองทัพกู้ชาติไทยอย่างใหญ่หลวง ขวัญของคนไทยทั้งชาติพลอยสูงขึ้นด้วย คนไทยที่แยกกันเป็นชุมนุมต่าง ๆ ที่มุ่งหวังจะตั้งตัวเป็นใหญ่อีก ก็ต่างมีความครั่นคร้ามและเลื่อมใสกองทัพกู้ชาติ อันมีพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นผู้นำ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ก็ไม่ปรากฏว่ามีข้าศึกล่วงล้ำถึงเขตเมืองสมุทรสงครามอีกเลย เมืองสมุทรสงครามจึงร่มเย็นเป็นสุขมาจนถึงปัจจุบันนี้

No comments: