10/18/2014

เยี่ยมชมวัด-กราบพระพุทธบาทสี่รอย ต.สะลวง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

เยี่ยมชมวัด-กราบพระพุทธบาทสี่รอย ต.สะลวง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

สืบเนื่องจากได้ให้นักเรียนแปลบาลีภาคที่ ๔ เรื่องปัณฑิตสามเณร และได้เล่าเรื่องประวัติความเป็นมาของบัณฑิตสามเณรให้นักเรียนฟังว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นในช่วงของพระพุทธเจ้าที่มีพระนามว่ากัสสปะ เลยทำให้ทราบว่ามีสามเณรบางรูปเข้าใจว่าพระพุทธเจ้านั้นมีอยู่แค่พระองค์เดียวคือองค์ปัจจุบัน
บางรูปเข้าใจว่ามีอยู่ ๕ พระองค์ บางรูปที่ได้เรียนมามากหน่อยก็ตอบว่ามี ๒๘ พระองค์ ซึ่งความจริงแล้วพระพุทธเจ้าของเรานั้นมีมากกว่า ๒๘ พระองค์ ดังบทพุทธมนต์ “สัมพุทเธ” ที่พระหัวหน้ามักขึ้น เมื่อไปเจริญพระพุทธมนต์ตามที่ต่าง ๆ แต่พระพุทธเจ้าที่ถูกกล่าวถึงบ่อย ก็เห็นจะเป็นพระพุทธเจ้าทั้ง ๒๘ พระองค์ ซึ่งเริ่มจากพระพุทธเจ้าพระนามว่าทีปังกรนับเรื่อยมาจนถึงพระพุทธเจ้าของพวกเราที่มีพระนามว่า “โคดม หรือ โคตมะ” ที่เรามักได้ยินกันเพียงแค่ ๒๘ พระองค์ก็เป็นเพราะว่าพระพุทธเจ้าของเราที่มีพระนามว่าโคดมนี้ พระองค์ได้รับการพยากรณ์เป็นครั้งแรกจากพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้าในขณะที่เป็นดาบสชื่อว่า สุเมธะหรือสุเมธดาบส และจากนั้นเป็นต้นมาก็ได้มีพระนามของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ปรากฏขึ้นมาตามลำดับ


IMG_0285.jpg
พระพุทธเจ้าทั้ง ๒๘ พระองค์ในวิหารพระ วัดพระพุทธบาทสี่รอย
IMG_0287.jpg
พระพุทธเจ้าทั้ง ๒๘ พระองค์ อีกมุมหนึ่ง
เมื่อวันเสาร์ที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา มีโอกาสขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาทสี่รอย ที่ ต.สะลวง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์ในภัทรกัปนี้ ขอขยายความอีกนิดเกี่ยวกับกัปในพระพุทธศาสนา ซึ่งถูกแบ่งออกเป็น ๒ ประเภทคือ สุญญกัป คือ กัปที่ว่างจากพระพุทธเจ้า และ อสุญญกัป คือ กัปที่มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ ในอสุญญกัปนี้ยังแบ่งออกไปอีกถึง ๕ กัป เรียกตามจำนวนการมาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าคือ กัปที่มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ ๑ พระองค์ เรียกว่า "สารกัป" ถ้ามาตรัสรู้ ๒ พระองค์ จะเรียกว่า "มัณฑกัป" ๓ พระองค์ เรียกว่า "วรกัป" ๔ พระองค์ เรียกว่า "สารมัณฑกัป" และมากสุดถึง ๕ พระองค์ เรียกว่า "ภัทรกัป" เราโชคดีที่เกิดมาในช่วงภัทรกัป ที่แปลว่า กัปอันเจริญ เพราะมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้มากถึง ๕ พระองค์ด้วยกัน ซึ่งที่พระพุทธบาทสี่รอยจะมีรอยประทับพระบาทของพระพุทธเจ้าถึง ๔ พระองค์ ยังต้องรอพระพุทธเจ้าอีก ๑ พระองค์ ซึ่งเป็นองค์สุดท้ายที่จะมาตรัสรู้ในภัทรกัปนี้ มาประทับรอยทั้ง ๔ รอยเป็นอันเดียวกัน รายละเอียดนั้นสามารถอ่านได้จากตำนานพระพุทธบาท ๔ รอย ด้านล่าง ใครจะมีความเชื่ออย่างไรไม่ว่ากัน แต่ที่ถือว่าโชคดีคือ การไปนมัสการครั้งนี้ครั้งเดียว เหมือนได้ไปนมัสการพระพุทธเจ้าถึง ๔ พระองค์ ก็เลยถือโอกาสนี้เล่าการเดินทาง (โดยไม่ได้วางแผนการเดินทางอะไรมากมาย) เผื่อท่านใดต้องการไปเยี่ยมชมบ้าง
ขอเริ่มต้นการเดินทางจากตัวเมืองเชียงใหม่ไป อ.แม่ริมก่อน การเดินทางสามารถโดยสารไปกับรถสองแถวสีเหลือง ที่เชียงใหม่มีรถโดยสารสองแถวเยอะมาก ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีรถขึ้น รอไม่นานก็ได้ไปครับ คนที่ไม่เคยไปก็สอบถามชาวบ้านแถวนั้นได้ บอกเขาว่าจะไปไหว้พระพุทธบาทสี่รอยเท่านี้ เดี๋ยวเขาก็จะบอกรายละเอียดให้ว่าไปลงที่ไหนอย่างไร
หลังจากที่สอบถามคนแถวนั้นแล้ว เหลือบไปเห็นรถเชียงใหม่-แม่ริมกำลังจอดรอผู้โดยสารอยู่ ก็เลยเข้าไปถามผู้โดยสาร เขาบอกว่าให้ไปขึ้นรถ เชียงใหม่-แม่แตง ซึ่งจอดรอผู้โดยสารอยู่ข้างหน้า กำลังจะเดินไปขึ้นรถคันหน้า ผ่านคนขับไปเขาเรียกและอธิบายให้ฟังทำให้ทราบว่ารถที่ไปแม่แตงความจริงก็ผ่านทางที่จะไปทางขึ้นไปวัดพระพุทธบาทพอดี แต่เนื่องจากใกล้เที่ยงแล้วกลัวจะเลยเพล ก็เลยต้องไปกับรถ เชียงใหม่-แม่ริม ได้คุยกับคนขับไปตลอดทาง ยอมรับเลยภาษาเหนือนี่ฟังยากจริง ๆ บางครั้งฟังแล้วงง บางครั้งฟังไม่รู้เรื่องเลย ต้องถามซ้ำหลาย ๆ รอบให้อธิบายอีกครั้งจนกว่าจะเข้าใจ
IMG_0201.jpg
ภาพนี้ถ่ายขณะนั่งอยู่ในรถ เชียงใหม่-แม่ริม
นั่งรถไปจนผู้โดยสารลงหมดแล้ว ก็ไปลงที่ปากทางเข้าพระพุทธบาทสี่รอย รู้สึกจะเป็นตลาดแต่จำชื่อไม่ได้แล้ว จะมีรถแม่ริม-สันป่ายางเข้าออกประมาณทุกชั่วโมง และมีร้านขายก๋วยเตี๋ยวอยู่แถวนั้นด้วยและได้เวลาเพลพอดี หลังเสร็จภัตกิจรถมาพอดีเป็นรถแม่ริม-สันป่ายาง
IMG_0208.jpg
ปากทางเข้าไปพระพุทธบาทสี่รอย เหลืออีกตั้ง ๓๔ กม.
เส้นทางที่เข้าไปค่อนข้างไกล และคดเคี้ยวเหมือนดังในภาพ
IMG_0231.jpg
มีทั้งเลี้ยวซ้าย
IMG_0239.jpg
แล้วเลี้ยวขวาพร้อมทางแยก
IMG_0235.jpg
ทางโค้ง
IMG_0240.jpg
ทางคดเคี้ยว
IMG_0233.jpg
จะมีป้ายแบบนี้บอกตลอดเส้นทาง
IMG_0244.jpg
ถึง ต.สันป่ายางแล้วครับ
เลยไปอีกหน่อยจะเป็นทางแยกเลี้ยวซ้ายเข้าวัดพระพุทธบาทสีรอย ป้ายบอกอีกแค่ ๑๗ กม. เท่านั้นก็จะถึงที่หมาย มาถึงตรงนี้ผู้โดยสารก็ลงกันหมดแล้ว
IMG_0245.jpg
เจอทางแยกแล้ว ต่อไปอีก ๑๗ กม.
ไปทางเดียวกันเลยเหรอ??
ทราบมาล่วงหน้าแล้วว่า อาจจะไม่มีรถขึ้นไปที่พระพุทธบาท อีกทั้งตอนลงก็ไม่มีรถรับส่งด้วย อาจต้องขอติดรถกับคนที่ขึ้นมานมัสการรอยพระพุทธบาทด้วย พอเห็นว่าไม่มีผู้โดยสารแล้วก็เลยบอกกับคนขับว่าจะขอเหมาขึ้นไปดีกว่า เขาคิด ๕๐๐ บาท ต่อรองเหลือ ๔๐๐ บาท แต่หลังจากเข้าไปแล้วสัก ๑๐ กม. เห็นจะได้ ต้องเปลี่ยนใจให้ ๕๐๐ บาทตามที่เขาต้องการ เพราะพอเริ่มขึ้นเขาเส้นทางคดเคี้ยวมาก ๆ สูงชันและแคบด้วย อันตรายมากสำหรับผู้ที่ไม่ชำนาญเส้นทางต้องขับรถอย่างระมัดระวัง จะมีรถสวนมาเป็นระยะ ๆ อีกทั้งสามารถเข้าไปได้หลายเส้นทาง สบายหน่อยก็ตรงที่เป็นเส้นทางลาดคอนกรีตเท่านั้น หลังจากเข้าไปแล้วจะกลับรถก็ลำบากมาก ตอนเข้าไปมีรถยนต์คันหนึ่งนำหน้าเห็นทะเบียนเป็นกรุงเทพฯ คิดว่าคงขึ้นมานมัสการรอยพระพุทธบาทเหมือนกัน แต่เนื่องจากไม่ชำนาญเส้นทางก็เลยเข้าผิดทาง ขับไปขับมารถสองแถวก็เลยนำหน้า สักพักหันหลังกลับไปดูก็ไม่เจออีก คงเป็นเพราะไม่ชำนาญ
ช่วงขึ้นเขานี่สงสารรถของคนขับกลัวเครื่องยนต์จะพังเสียก่อนนึกอยู่ตลอดว่าจะขึ้นไหวหรือเปล่า เพราะบางช่วงค่อนข้างชัน นึกว่ารถจะไปไม่ไหวเสียแล้ว แต่ก็ยังไปจนได้ คนขับก็ค่อนข้างชำนาญเลยไม่มีปัญหาใด ๆ ตอนแรกเห็นบอกว่าแค่ ๑๗ กม. เข้าไปแล้วเหมือนกับ ๓๐ กม. ต้องลุ้นกันตลอดเส้นทาง เลยไม่ได้ถ่ายรูปมาฝากช่วงขึ้นเขามาฝาก เดี๋ยวไปดูรูปตอนถึงแล้วละกัน
IMG_0329.jpg
ทางขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาท
ในที่สุดก็มาถึงเสียที ด้านบนนี้จะมีห้องน้ำบริการให้เรียบร้อย มีลำธารเล็ก ๆ ไหลผ่าน มีร้านอาหารด้วยใครหิวก็เข้าไปดื่มกินให้เรียบร้อยแล้วค่อยขึ้นก็ได้ ที่เชิงบันใดซ้ายมือจะมีร้านขายดอกไม้พร้อมทองคำเปลวไว้บูชารอยพระพุทธบาทด้วย ก็เลยซื้อติดมือไปด้วย ส่วนขวามือจะมีฆ้องขนาดใหญ่แขวนอยู่มีคนที่จะขึ้นไปบูชาขึ้นไปลูบแล้วมีเสียงดังกังวาลมาก ลูกศิษย์ไม่เคยเห็น เกิดสงสัยว่าดังได้ยังไง ไม่ได้ตีสักหน่อย ก็เลยลองไปลูบดูบ้าง แอ๊ะ...ไม่เห็นดัง สงสัยคงไม่มีบุญ ก็เลยกะว่าขึ้นไปบูชาก่อนแล้วค่อยลงมาลูบดูใหม่ พอขึ้นบันใดไปหน่อยหนึ่งจะเจอกับอนุสาวรีย์พระรูปของครูบาศรีวิชัย ประดิษฐานอยู่ด้านซ้ายมือ
IMG_0324.jpg
ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทย ผู้เคยมาพัฒนาที่นี่
ก่อนจะขึ้นไปกราบรอยพระพุทธบาท จะเจอกับตำนานพระพุทธบาท ๔ รอย ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้
IMG_0391.jpg
ตำนานพระพุทธบาท ๔ รอย
เมื่อครั้งสมัยพุทธกาล องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในศาสนาปัจจุบันนี้ได้เสด็จจารึกประกาศธรรมและโปรดเวไนยสัตว์มายังปัจจันตะประเทศ (ประเทศไทยในปัจจุบัน) จนกระทั่งมาถึงเทือกเขาทางตอนเหนือของประเทศ ชื่อเขา เวภารบรรพตซึ่งขณะนั้นได้เสด็จพร้อมกับพุทธสาวก ๕๐๐ องค์ และได้แวะฉันจังหันอยู่บนเขา เวภารบรรพตแห่งนี้ เมื่อพระพุทธองค์ฉันจังหันเสร็จ ขณะประทับอยู่ที่นั้น ก็ได้ทราบด้วยญาณสมาบัติว่าบนเทือกเขาแห่งนี้ ได้มีรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้ามาประทับอยู่บนก้อนหินก้อนใหญ่คือ พระพุทธเจ้าที่มาตรัสรู้ภัทรกัลป์นี้ แล้วพระพุทธองค์ก็ทรงเล็งดูรอยพระพุทธบาทแห่งพระพุทธเจ้าทั้ง ๓ พระองค์ คือ พระพุทธเจ้ากกุสันธะ, พระพุทธเจ้าโกนาคมนะ, พระพุทธเจ้ากัสสปะ อันมีในที่นี้พุทธสาวกทั้งหลาย มีพระสารีบุตรเป็นประธานเมื่อเห็นเช่นนี้จึงทูลถามว่า พระพุทธองค์ทรงเล็งดูด้วยเหตุใด พระพุทธองค์จึงตรัสตอบว่า ดูก่อนท่านทั้งหลายสถานที่แห่งนี้แม้นว่าพระพุทธเจ้าทั้ง ๓ พระองค์ ที่ล่วงมาแล้วในอดีตกาล ก็มาประทับรอยพระบาทไว้ ณ ที่นี่ทุก ๆ พระองค์ และแม้นว่าพระศรีอริยเมตไตร ก็จักเสด็จมาประทับรอยพระบาทไว้ ณ ที่นี่ และจักประทับรอยพระบาท ๔ รอยให้เป็นอันหนึ่งอันเดียว (คือประทับลบรอยทั้ง ๔ ให้เหลือรอยเดียว) เมื่อพุทธองค์ตรัสแก่สาวกทั้งหลายเสร็จแล้ว พระองค์ก็เสด็จไปประทับรอยพระบาทซ้อนรอยพระบาทของพระพุทธเจ้าทั้ง ๓ พระองค์ จึงมีรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้า ๔ พระองค์ จึงเกิดเป็นพระพุทธบาท ๔ รอย เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราประทับรอยพระบาทซ้อนรอยพระบาทของพระพุทธเจ้าทั้ง ๓ พระองค์นั้นแล้วก็ทรงอธิษฐานว่า
ในเมื่อ(เรา)ตถาคตนิพพานไปแล้ว เทวดาทั้งหลายก็จักนำเอาพระธาตุของตถาคต มาบรรจุไว้ที่รอยพระพุทธบาทที่นี่ ในเมื่อตถาคตนิพพานไปแล้ว ๒,๐๐๐ ปี พระพุทธบาท ๔ รอยนี้ก็จักปรากฏแก่ปวงชนและเทวดาทั้งหลาย ก็จักได้มาไหว้และบูชา เมื่อทรงอธิษฐานและทำนายไว้ดังนี้แล้วพระพุทธองค์ก็เสด็จไปเชตุวันอารามอันมีในเมืองสาวัตถีนั้นแล เมื่อพระพุทธเจ้านิพพานไปแล้วเทวดาทั้งหลายก็นำเอาพระธาตุของพระพุทธองค์มาบรรจุไว้ที่พระพุทธบาท ๔ รอยเมื่อพระพุทธองค์นิพพานล่วงมาแล้วประมาณ ๒,๐๐๐ วัสสา เทวดาทั้งหลายต้องการอยากให้พระพุทธบาท ๔ รอย ปรากฏแก่คนทั้งหลายตามที่พระพุทธองค์ทรงอธิษฐานไว้ ก็จึงเนรมิตเป็นรุ้งตัวใหญ่ (เหยี่ยว) ก็บินลงจากภูเขาเวภารบรรพต อันเป็นที่ตั้งแห่งพระพุทธบาทสี่รอยในปัจจุบันนี้เพื่อบินลงไปเอาลูกไก่ของชาวบ้าน (คนป่า) ที่อยู่ตีนเขาเวภารบรรพต แล้วก็บินกลับขึ้นไปสู่ยอดเขา มันก็โกรธมากจึงตามขึ้นไปคิดว่าจะยิงเสียให้ตาย มันก็คิดตามไปค้นหาดู แต่ก็ไม่เห็นรุ้งตัวนั้น แต่เห็นรอยพระพุทธบาท ๔ รอยอันอยู่พื้นต้นไม้และเถาวัลย์ พรานป่าผู้นั้นก็ทำการสักการะบูชาเสร็จแล้วก็ลงจากภูเขา พอมาถึงหมู่บ้านก้เล่าบอกแก่ชาวบ้านทั้งหลายฟัง ข้อความอันนั้นก็ปรากฏสืบ ๆ กันไปแรกแต่นั้น คนทั้งหลายที่ทราบก็พากันไปสักการะบูชามาก แต่นั้นมาจึงได้ชื่อว่าพระบาทรังรุ้ง (รังเหยี่ยว) ในสมัยนั้นมีพระยาคนหนึ่งชื่อว่า พระยาเม็งราย เสวยราชสมบัติในเมืองเชียงใหม่ ได้ทราบข่าวจึงมีพระราชศรัทธาอยากเสด็จขึ้นไปกราบบูชาพระพุทธบาท ๔ รอย ก็นำเอาราชเทวีและเสนาพร้อมกับบริวารทั้งหลาย เมื่อพระยาเม็งรายกราบนมัสการเสร็จแล้ว ก็นำเอาบริวารของตนกลับสู่งเมืองเชียงใหม่ ก็ตั้งอยู่เสวยราชสมบัติตราบเมี้ยนอายุขัย แล้วลูกหลายที่สืบราชสมบัติก็เจริญรอยตามและได้ขึ้นมากราบพระพุทธบาท ๔ รอย ทุก ๆ พระองค์ หลังจากนั้นมาพระบาทรังรุ้งหรือรังเหยี่ยวนี้ก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น พระพุทธบาทสี่รอย เพราะมีรอยพระพุทธบาทประทับซ้อนกันถึง ๔ รอย มาในสมัยยุคหลังคนทั้งหลายจึงเรียกขานกันว่าพระพุทธบาทสี่รอย คือมีรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ ที่ล่วงมาแล้วในภัทรกัลป์นี้ คือ
     ๑. รอยพระบาทของพระพุทธเจ้ากกุสันธะ รอยแรกเป็นรอยใหญ่ยาว ๑๒ ศอก
     ๒. รอยพระบาทของพระพุทธเจ้าโกนาคมนะ เป็นรอยที่ ๒ ยาว ๙ ศอก
     ๓. รอยพระบาทของพระพุทธเจ้ากัสสปะ เป็นรอยที่ ๓ ยาว ๙ ศอก
     ๔. รอยพระบาทของพระพุทธเจ้าโคตะมะ (ศาสนาปัจจุบันนี้) เป็นรอยที่ ๔ รอยเล็กสุดยาว ๔ ศอก
เมื่อมาถึงสมัยพระยาธรรมช้างเผือก ผู้ครองนครเชียงใหม่ พร้อมด้วยบริวาร ๕๐๐ คน ก็ขึ้นไปกราบสักการะบูชาพระพุทธบาท ๔ รอย และได้สร้างพระวิหารครอบพระพุทธบาทสี่รอยไว้ชั่วคราวโดยแต่เดิมถ้าใครจะดูรอยพระพุทธบาทบนยอดหินก้อนใหญ่ ต้องใช้บันไดพาดขึ้นไป หรือปืนขึ้นไปดูซึ่งก็คงจะขึ้นได้เฉพาะผู้ชายเท่านั้น ดังนั้นพระยาธรรมช้างเผือกจึงตรัสสร้างแท่นยืนคล้ายๆนั่งร้านรอบ ๆ ก้อนหินที่มีพระพุทธบาทสี่รอย เพื่อที่ผู้หญิงจะได้เห็นรอยพระพุทธบาทด้วย และได้สร้างหลังคาชั่วคราวมุงไว้ ต่อมาในสมัยพระชายาเจ้าดารารัศมีก็ได้ขึ้นไปกราบนมันสการพระพุทธบาท ๔ รอย และได้มีพระราชศรัทธาก่อสร้างวิหาร เป็นการกราบบูชารอยพระพุทธบาทไว้ ๑ หลัง หลักเล็ก ปัจจุบันได้บูรณะปฏิสังขรณ์แล้วทั้งหลัง จะเหลือไว้แค่ผนังวิหาร พื้นวิหารและแท่นพระซื่งยังเป็นของเดิมอยู่ พอมาสมัยเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๒ ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทยก็ได้ขึ้นไปกราบนมัสการพระพุทธบาทสี่รอย และได้รื้อพระวิหารที่เจ้าพระยาธรรมช้างเผือกสร้างไว้ชั่วคราว และได้สร้างพระวิหารครอบรอยพระพุทธบาทไว้ใหม่และได้ฉาบปูนครอบรอยพระพุทธบาทไว้ เพื่อรักษาให้อยู่ค้ำชูพุทธศาสนาไปตลอดกาลนาน
IMG_0275.jpg
วิหารที่สร้างครอบรอยพระพุทธบาท
IMG_0299.jpg
อีกมุมหนึ่ง
IMG_0299.jpg
วิธีดูรอยพระพุทธบาท
IMG_0380.jpg
ภายในวิหารที่ครอบรอยพระพุทธบาทไว้
IMG_0249.jpg
อย่าลืมกล่าวคำบูชาพระพุทธบาทก่อนวางดอกไม้ ติดแผ่นทอง
IMG_0384.jpg
อีกมุมหนึ่ง
IMG_0385.jpg
อีกมุมหนึ่ง
IMG_0340.jpg
อุโบสถวัดพระพุทธบาทสี่รอย
IMG_0331.jpg
อันนี้อ่านแล้วพอเข้าใจ
IMG_0343.jpg
อันนี้อ่านยังไงก็ไม่เข้าใจ ใครรู้ช่วยบอกทีว่าแปลว่าอะไร
IMG_0352.jpg
มองใกล้ ๆ อีกนิด
IMG_0355.jpg
นาคเกี้ยว บริเวณด้านข้างของพระอุโบสถ
IMG_0357.jpg
บริเวณภายในอุโบสถ
IMG_0357.jpg
เมื่อหันกลับมามองวิหารครอบพระพุทธบาทจากอุโบสถ
ที่จริงยังมีอีกหลายที่ ๆ ยังไม่ได้ดู แต่...มีคณะญาติโยมผู้ใจบุญได้ขึ้นมาถวายพระพุทธรูปให้กับวัด มาพร้อมกับพระจากกรุงเทพฯ ได้เจอกับญาติโยมขณะเดินชมวัด ได้คุยกันและทราบว่าอีกสักพักก็จะกลับแล้ว จึงถือโอกาสขอร่วมเดินทางกลับด้วย เพราะยังคิดไม่ออกว่าจะกลับยังไง ที่จริงก็มีรถขึ้น-ลงอยู่เรื่อย ๆ ครั้งแรกกะว่าจะขอเจ้าอาวาสพักสักคืนก่อนแล้วค่อยกลับตอนเช้า เพราะเห็นคนขับรถบอกว่าช่วงเช้าจะมีรถช่างก่อสร้างขึ้น-ลงด้วยพอจะพลอยลงมาด้วยกันได้ ช่วงนี้ลูกศิษย์จึงถือโอกาสไปลูบฆ้องดูอีกครั้ง แต่คราวนี้รู้วิธีแล้ว พอทราบวิธีก็ลงมือลูบดู คราวนี้เสียงดังกังวาน
ก่อนเดินทางกลับพร้อมกับคณะญาติโยม นึกขึ้นได้ว่าตอนกำลังเดินทางขึ้นมายังวัดพระพุทธบาทพร้อมกับรถสองแถวนั้น ได้ผ่านวัด ๆ หนึ่งเห็นเขียนป้ายโฆษณาเสียใหญ่โตว่ามีพระประธานอายุกว่า ๑,๓๐๐ ปี ก็ยังนึกเสียดายว่ายังไม่ได้เข้าไปชมภายในวัด แต่ไม่อยากรบกวนใคร ได้กลับลงมาก็บุญนักหนาแล้ว แต่ที่ไหนได้ ญาติโยมตอนขึ้นมาก็ไม่ได้แวะเหมือนกัน แล้วยังมาขออนุญาตเราอีกว่าขอแวะวัดหนองก๋ายหน่อย เรานึกยิ้มเลย ก็เลยได้ภาพวัดหนองก๋ายมาอีก
IMG_0405.jpg
วัดหนองก๋าย
IMG_0399.jpg
ภายในอุโบสถ
หลังจากที่พากันไหว้พระเรียบร้อยแล้วก็เดินทางกลับ กลัวจะรบกวนญาติโยมมากเกินไปก็เลยขอลงที่เดิมคือต้นทางที่เคยแวะพัก แล้วต่อรถสองแถวมาเรื่อย ๆ เพื่อขึ้นรถ บขส. กลับกรุงเทพฯ การเดินทางครั้งนี้ปราศจากอุปสัคใด ๆ ทั้งสิ้น ราบรื่นตลอดเส้นทาง

No comments: