ขณะนี้ถือว่าเป็นช่วงการตื่นตัวของการเดินทางทางอากาศอย่างมาก มีข่าวสร้างสนามบินใหม่บ้าง อุบัติเหตุของเครื่องบินบ้าง แต่ที่แน่ ๆ ยุคนี้ พ.ศ.นี้ถือเป็นขาขึ้นของธุรกิจสายการบิน ที่เชื่อมโยงกับภาคธุรกิจการท่องเที่ยวโดยตรง และแน่นอนพื้นที่ที่นักท่องเที่ยวนิยมอย่างเชียงใหม่ก็เนื้อหอมมีทั้งสายการบินใหม่ของไทยที่แจ้งเปิดตัว และสายการบินต่างประเทศโดยเฉพาะจากจีนบินตรง หรือเช่าเหมาลำ Landing ที่เชียงใหม่มากขึ้น
ขอเริ่มที่สายการบินสายเลือดไทยที่เกิดใหม่แห่งแรกคือ สายการบิน City Airways ที่มีมีแผนที่จะรับมอบเครื่องบินแบบ Boeing B737-400 อีกจำนวน 3 ลำ ภายในปี 2013 นี้ และเตรียมพร้อมที่จะเปิดให้บริการในเส้นทางประจำจาก กรุงเทพฯ (ดอนเมือง) ไปยัง เชียงใหม่ และ ภูเก็ต ในปัจจุบันทางสายการบินยังให้บริการเช่าเหมาลำจาก กรุงเทพฯ(ดอนเมือง) ไปยัง ฮ่องกง อีกด้วย ผู้บริหารกล่าวว่าในอนาคต จะเปิดเส้นทางบินไปยัง สิงคโปร์ และ เมียนมาร์ พร้อมทั้งต้องการเครื่องบินแบบ Boeing B737-800 เข้าประจำการอีกด้วย และขณะนี้ City Airways ให้บริการด้วยเครื่องบินแบบ Boeing B737-400 จำนวน 4 ลำ
สายการบินที่สองที่แจ้งเกิดไปเมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาคือ "เอเชียน แอตแลนติก แอร์ไลน์ส" ใช้ ตัวย่อว่า AAA บินระหว่างกรุงเทพฯ-โตเกียว รับกรุ๊ปทัวร์ญี่ปุ่นและไทยเป็นหลัก สำหรับกลุ่มผู้ร่วมทุนในสายการบินเอเชียน แอตแลนติก แอร์ไลน์ส ประกอบด้วยกลุ่ม เอเชีย แปซิฟิก แอร์ไลน์ส 49% บริษัท เอช.ไอ.เอส. ทัวร์ (ประเทศไทย) จำกัด 39% และนายพันธ์เลิศ ใบหยก 12% เปิดสายการบินแบบประหยัดคล้ายกับ ไทยแอร์เอเชีย นกแอร์ และ บางกอก แอร์เวย์ส โดย มีต้นทางที่กรุงเทพฯ บินประจำ ไปกลับ กรุง เทพฯ-โตเกียว รวมถึงประเทศแถบเอเชีย อาทิ จีน เกาหลีใต้ ในเบื้องต้นจะมีเครื่องบินบริการ 3 ลำ จากนั้นจะเพิ่มเป็น 10 ลำ โดยใช้เครื่อง บินโบอิ้ง B 767 ขนาด 350 ที่นั่ง สอดคล้องกับสถานการณ์ความต้องการเดินทางของผู้โดยสารระหว่างประเทศในเอเชียในช่วงเตรียมเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ส่วนความเคลื่อนไหวของเจ้าเดิมก็ไม่ธรรมดา
สำหรับสายการบินแอร์เอเชียก็เลือกจังหวัดเชียงใหม่เป็นฐานการบินสำหรับเส้นทางการบินสู่ประเทศจีนโดยจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป ซึ่งขณะนี้สายการบินฯได้มีเที่ยวบินจากเชียงใหม่ในหลากหลายเส้นทาง อาทิเช่น เส้นทางสู่กรุงเทพฯ ดอนเมือง ภูเก็ต หาดใหญ่และมาเก๊า ในส่วนของสายการบินแอร์เอเชีย (มาเลเชีย) ก็มีเที่ยวบินตรงระหว่างเชียงใหม่และกัวลาลัมเปอร์ด้วย
ส่วนความเคลื่อนไหวของค่ายนกแอร์มีฝูงบินราว 16 ลำ ได้แก่ เอทีอาร์ 2 ลำ และโบอิ้ง737-800 จำนวน 4 ลำ ในปี 2557 จะมีฝูงบินเพิ่มขึ้นเป็น 23 ลำ ได้แก่ โบอิ้ง737-800 จำนวน 18 ลำ เอทีอาร์ 5 ลำ ในปี 2558 มีฝูงบิน 30 ลำ เป็นโบอิ้ง737-800 จำนวน 22 ลำ เอทีอาร์ 8 ลำ การเพิ่มฝูงบิน ทำให้มีcapacity เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 37% ลดต้นทุนน้ำมันลงได้ราว13% และนกแอร์วางยุทธศาสตร์เส้นทางบินเน้นทำการบินในประเทศ ประเทศในกลุ่มเออีซี ที่ล่าสุดปีนี้เตรียมจะเปิดบินเข้าแม่สอด และย่างกุ้ง ประเทศเมียนมาร์เป็นเส้นทางแรก และมองเส้นทางวงรัศมี 4 ชั่วโมงจากกรุงเทพฯ
สำหรับบริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในนามสายการบินบางกอกแอร์ ของตระกูลปราสาททองโอสถ ก็มีโครงการ 5 ปี (2556-2560) ที่จะจัดหาเครื่องบินใหม่เพิ่มขึ้น เพื่อทดแทนการปลดระวางเครื่องบินที่มีอายุการใช้งานมานาน จำนวน 24 ลำ ซึ่งจะเน้นการซื้อเครื่องบินมากกว่าเช่า แต่การซื้อเครื่องบินจะไม่เกิน 3 ใน 4 ของฝูงบินทั้งหมด รวมถึงการปลดระวางเครื่องบิน จำนวน 7 ลำ
ด้าน"โอเรียนท์ไทย"ก็ตั้งเป้าดึงนักท่องเที่ยวเช่าเหมาลำจีน 1 ล้านคนปีนี้ หลังจากปรับกลยุทธ์หันมาจับธุรกิจเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (ชาร์เตอร์ไฟลท์) มากว่า 3 ปี เริ่มเห็นการเติบโตจากการขยายตัวของนักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นตลาดหลักของสายการบินฯ โดยปีที่ผ่านมามีการบรรทุกผู้โดยสารจากจีนกว่า 6 แสนคน ครองส่วนแบ่งตลาด 25% เป็นอันดับหนึ่งของการขนส่งนักท่องเที่ยวจากจีนมาไทย ปัจจุบันมีฝูงบินพร้อมให้บริการรวม 9 ลำ ในรุ่นโบอิ้ง 737 และโบอิ้ง 767 ที่พร้อมนำมาให้บริการแบบชาร์เตอร์ไฟลท์ โดยมีจำนวนผู้โดยสารจีนเดินทางมาไทยเฉลี่ย 3,000 คนต่อวัน และในช่วงไฮซีซันจะสูงราว 4,000 คนต่อวัน ขณะเดียวกันกำลังพิจารณาความเป็นไปได้ในการขยายเที่ยวบินชาร์เตอร์ไปยัง เชียงใหม่ เพื่อให้สอดรับกับกระแสการเดินทางตามรอยภาพยนตร์ของนักท่องเที่ยวจีนด้วย แต่ทั้งนี้การเลือกเปิดจุดบินไปยังจังหวัดอื่นๆ จะต้องพิจารณาความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ ประกอบด้วย ทั้งห้องพักโรงแรมและแหล่งท่องเที่ยว
น้องใหม่การบินไทยสมายล์ ดำเนินการด้วย Airline Operator Certificate (AOC) และ Airline Code เดียวกับการบินไทย โดยเปิดตัวกลางปี 2555 ปัจจุบัน มีจุดหมายในประเทศ 7 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่, ภูเก็ต, กระบี่, สุราษฎร์ธานี, อุดรธานี, อุบลราชธานี และ 6 แห่งในอาเซียน มาเก๊า และอินเดีย ตั้งเป้าเป็น “Regional Brand” มุ่งบินในเส้นทางที่สั้นกว่า และในราคาที่ถูกกว่าถึง 10-20% อัตราการขนส่งผู้โดยสาร (Load Factor) ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วถึงต้นปีนี้ซึ่งสูงกว่า 80% การบินไทย เสนอขอตั้งบริษัท “ไทยสมายล์แอร์เวย์” เป็นบริษัทย่อย ด้วยทุนจดทะเบียน 1,800 ล้านบาท โดยการบินไทยถือหุ้น 100%
ในสายการบินต่างประเทศที่บินเชื่อมเชียงใหม่มีความเคลื่อนไหวดังนี้
1.) สายการบินดราก้อนแอร์เพิ่มเที่ยวบินเชียงใหม่ ฮ่องกงเป็น 7 เที่ยวต่อสัปดาห์ หรือให้บริการทุกวัน โดยในจำนวนนั้นจะเพิ่มขนาดเครื่องบินและมีที่นั่งชั้นธุรกิจในสองวัน จากเดิมที่มีแต่ที่นั่งชั้นประหยัดเพียงอย่างเดียว โดยมีอัตราส่วนที่นั่งจากฮ่องกงร้อยละ 60 และจากเชียงใหม่ร้อยละ 40 ซึ่งบริษัทคาเธ่ย์แปซิฟิกและสายการบินดราก้อนแอร์ ได้ใช้ฮ่องกงเป็น Hub ที่บินออกไปสู่ 174 จุดหมายปลายทางทั่วโลก ทั้งทวีปเอเชีย อเมริกา ยุโรป แอฟริกา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เฉพาะเส้นทางเชียงใหม่-ฮ่องกงในระยะ 1 ปีที่ผ่านมามีผู้โดยสารกว่า 20,000 คน และกำลังเติบโตเรื่อยๆ และสายการบิน Dragonair วางแผนที่จะนำเครื่องบินแบบ Airbus A330-300 มาให้บริการในเส้นทางระหว่างฮ่องกง - เชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2013 นี้เป็นต้นไปจำนวน 2 เที่ยวบินจาก 5 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ในวันพฤหัสบดีและวันเสาร์ สำหรับอีก 3 เที่ยวบินที่เหลือสายการบินฯจะให้บริการด้วยเครื่องบินแบบ Airbus A320-200
2.) สายการบิน AIR CHINA ของประเทศจีน ได้ประกาศเปิดบิน เส้นทาง ปักกิ่ง - เชียงใหม่ - ปักกิ่ง เริ่มบิน วันที่ 7 พฤศจิกายน 2556
3.) สายการบิน “JinAir” ของเกาหลี เปิดเส้นทางใหม่บินตรง ระหว่าง “เชียงใหม่–เกาหลีใต้ อาทิตย์ละ 4 เที่ยวบิน เป็นการบินในเครือ โคเรียนแอร์ไลน์ โดยใช้เครื่องบินโบอิ้ง 737-800 จำนวน 180 ที่นั่ง ให้บริการเที่ยวบินจากสนามบินเชียงใหม่ทุกวันพุธ พฤหัสบดี อาทิตย์และจันทร์ อาทิตย์ละ 4 เที่ยวบิน
มีการวิเคราะห์จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจว่า สัญญาณการเติบโตของการจราจรทางอากาศ สะท้อนได้จากสถิติการคาดการณ์ใน 3 ปัจจัยหลัก ปัจจัยแรก คือการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยที่ในปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยวจีน ที่เพียงไตรมาสแรกของปีนี้มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทยถึง 8.5 แสนคน เติบโต 97% และรัฐบาลก็ตั้งเป้าหมายว่าประเทศไทยจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มจาก 1 ล้านล้านบาทเป็น 2 ล้านล้านบาทในปี 2558
(ที่มา:gotomanager.com)
ปัจจัยที่สอง คือการขยายตัวของการเดินทางทางอากาศที่เพิ่มขึ้นทั้งเส้นทางบินภายในประเทศและเส้นทางบินระหว่างประเทศ จากการขยายเครือข่ายเส้นทางบินของสายการบินปกติและสายการบินโลว์คอสต์ ซึ่งบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท.ได้คาดการณ์ว่าจะมีจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะท่าอากาศยานหลัก อย่างสนามบินสุวรรณภูมิ ก็คาดว่าจะมีผู้โดยสารเพิ่มเป็นกว่า 56 ล้านคน และมีเที่ยวบินเพิ่มเป็น 3.14 แสนเที่ยวบินในปี 2558
ส่วนปัจจัยสุดท้ายเป็นเรื่องของการเติบโตของการจราจรทางอากาศที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่เกิดจากเศรษฐกิจในเอเชียที่ขยายตัว และการเปิดน่านฟ้าเสรี ภายใต้กรอบเออีซี โดยสภาการท่าอากาศยานนานาชาติ(ACI)ได้คาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตของผู้โดยสารทั่วโลกในอีก 20 ปีข้างหน้าว่าจะมีสัดส่วนเป็น 4.2% แต่อัตราการเจริญเติบโตของผู้โดยสารภายในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกคิดเป็น 6.3% ต่อปี ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วเป็นอัตราที่สูงกว่าการเติบโตของผู้โดยสารในภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก
โดย อาคม
No comments:
Post a Comment