3/18/2013

ไทลื้อ บ้านลวงเหนือ ดอยสะเก็ด เชียงใหม่

Taxi Chiangmai and Private Tour by Patrick 081 617 2116 Oversea Call +66 81 617 2116 E-mail:  neomart@gmail.com


ไปเขย่ามือทำความรู้จักกันกับไทลื้อ บ้านลวงเหนือ

ไทลื้อ บ้านลวงเหนือ

ต่างถิ่น ต่างที่ ต่างเชื้อชาติ ก็ต่างวัฒนธรรมและวิถีชีวิต

ผมพาตัวเองมายืนทำหน้าหล่อแถววัดศรีมุงเมือง บ้านลวงเหนือ ดอยสะเก็ด มาทำความรู้จักวิถีชีวิตของคนที่นี้ครับ

ไม่ได้ทำความรู้จักอย่างการเดินเข้าไปเขย่ามือแล้วถามชื่อแบบนั้นนะครับ ทำความรู้จักคือการไปสัมผัสหลายๆอย่างในชีวิตพวกเขา

เกริ่นกันก่อน ชาวบ้านที่นี้ ต้องบอกว่าส่วนใหญ่เลยเป็นชาวไทลื้อครับ ไทลื้อ หรือ ไตลื้อ ก็คือชาวไทกลุ่มหนึ่ง ที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในแถบสิบสองปันนาของจีน มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นคือการใช้ภาษาไทลื้อ อีกอันที่เด่นชัดเลยคือเครื่องแต่งกาย โดยเฉพาะผ้าโพกหัวสีขาว


ผมเข้ามาในวัดศรีมุงเมือง ย่างเท้าเข้าไปในพระวิหาร กราบพระเสร็จ ก็มองดูความงามรอบๆภายในวิหารวัดที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ดี ปากประตูทางเข้าพระวิหารตรงบันไดมีสัตว์ในตำนานอย่าง “พญาลวง” (ที่ไม่ใช่พญานาค หลายคนเข้าใจเป็นแบบนั้น แต่ที่จริงเป็นสัตว์ที่มีลักษณะหลายอย่างผสมกันทั้งมังกร พญานาค เหยี่ยว วัว กวาง เป็นต้น) เด่นสง่าชูหัวทั้งสองฝั่งราวบันได ถัดไปด้านหลังพระวิหารมีพระธาตุเจดีย์นพีสีพิศาลมงคล (ชื่อจะยาวไปไหน) วางตัวอยู่

ด้านหน้าวัดศรีมุงเมือง

พญาลวง

ภายในพระวิหาร

เดินไปซ้ายมืออีกนิดเป็นกุฏิเจ้าอาวาส ข้างในมีโฮงหลวงไทลื้อ ที่สร้างโดยไม่ได้ใช้ตะปูซักดอก แต่อาศัยการตอกลิ่ม เข้าสลักแทน



ไม่มีตะปูซักดอก ใช้การตอกลิ่ม เสียบสลักแทน




จากโฮงหลวงไทลื้อ เดินกันมาทั้งคณะสื่อและททท. พอเหงื่อซึมเป็นกษัย ก็มาถึงตรงจุดสำคัญของหมู่บ้านอีกที่ ที่ที่ว่าก็คือหลักใจกลางบ้าน  หรือเรียกอีกอย่างว่า  เสื้อบ้าน ตั้งอยู่ตรงกลางของหมู่บ้านเมืองลวงเหนือและใต้ ซึ่งเป็นเขตแดนที่ติดต่อกัน  โดยคนไทลื้อได้สร้างขึ้นตั้งแต่ครั้งแรกๆที่เข้ามาอยู่ เพื่อให้เป็นที่สิงสถิตของเทวดาอารักษ์ที่มาปกปักรักษา  คุ้มครองคนในหมู่บ้านให้ได้อยู่ร่วมกันอย่างร่มเย็นเป็นสุข  ซึ่งเมื่อคนในหมู่บ้านจะทำการสิ่งใด  หรือเดินทางไปไหนมาไหนก็ต้องไปจุดธูปเทียนเพื่อบอกกล่าวเทวดาเสื้อบ้านให้รับรู้และคุ้มครองรักษา  พร้อมกันนี้ในหมู่บ้านก็จตะให้ความสำคัญกับการทำบุญสืบชะตาหมู่บ้านเป็นประจำทุกปีในวันที่ 16 เดือนเมษายน



หลักใจกลางบ้าน

อีกอย่างที่น่าสังเกตของชื่อหมู่บ้านที่ผมสังเกตเอา น่าจะมาจากชื่อพญาลวง ก็เลยตั้งชื่อเป็นหมู่บ้านเมืองลวงไปเลย ฝั่งเหนือก็เมืองลวงเหนือ ฝั่งใต้ก็เมืองลวงใต้ (เพราะสถาปัตยกรรมส่วนใหญ่ทางศาสนา จะมีแต่พญาลวงล้วนๆ)

อนึ่ง ”ลวง” ในที่นี้ ไม่ใช่ลวงหลอกนะครับ ฮ่าๆๆ

วัดและวิถีชาวบ้านก็จัดการไปเขย่ามือทำความรู้จักมักจี่มาแล้ว คราวนี้มาดูที่ของฝากของกินเลื่องชื่อที่นี้กันครับ ก่อนอื่นผมไม่รู้จะเรียกคนนำทาง หรือไกด์ หรือวิทยากร ของที่นี้ว่ายังไงดี เอาเป็นว่าช่างหัวลูกสาวคุณยายมันเถอะครับ ไหนๆเขาพามาดูแล้วก็อย่าไปสงสัยอะไรให้เข้าเรื่องมาก

“ข้าวแคบ” คืออาหารที่จะพามาทำความรู้จัก รูปพรรณสัณฐานมัน ดูออกคล้ายๆข้าวโป่งของคนอีสานบ้านผมครับ ลักษณะเป็นแผ่นเหมือนกัน  ข้าวแคบจะทำจากแป้งข้าวสารเหนียว ผสมด้วยงาและเกลือ ทำเสร็จจะกินแบบร้อนๆคาหม้อ เหนียวหนึบๆ หรือจะเอาไปตากบนแผ่นหญ้าคาแล้วเอามาปิ้งไฟ หรือทอด รสชาติจะออกมันๆครับ ทำนองยิ่งกินยิ่งมัน ยิ่งมันก็ยิ่งกิน ปีใหม่เมือง งานบวชลูกแก้ว งานปอยหลวง งานพวกนี้ ข้าวแคบมักจะไปเสนอหน้าให้ชาวบ้านได้ทานกันเสมอ





ไม่เอามาตากจะกินแบบนี้ก็ได้

แบบทอด

แบบปิ้ง

คนที่นี้แนะนำผมว่าต้องกินกับข้าวเหนียวนึ่ง กินกันไปแบบเพียวๆยังงั้นเลย ข้าวแคบทอดบวกข้าวเหนียวนึ่ง แหม ข้าวล้วนๆนะครับ แต่ถ้าถามเอาความรู้สึกผมจากก้นบึ้งลึกๆของหัวใจ ผมว่ามันเหมาะกับการเป็นของขบเคี้ยวทานเล่นมากกว่าจะซัดกับข้าวเหนียวนึ่ง หรือหากจะเอาไปวางใส่จานเป็นกับแกล้มสุราเมรัย ก็ไม่น่าเกลียด เคอะเขินแต่อย่างใดครับพี่น้อง และถ้าอยากให้ได้อารมณ์และความรู้สึกสุดๆในการทาน ต้องไปนั่งปิ้งข้างเตาไฟร้อนๆกับมือตัวเองเลย


จากความมันของข้าวแคบ ชนิดเคี้ยวเพลินจนลืมเวลา เกือบสองชั่วโมงกว่าๆ ในหมู่บ้านลวงเหนือ คนที่นี้พาผมไปรู้จักวัฒนธรรมอะไรใหม่ๆของไทลื้อได้เยอะจริงๆครับ

No comments:

Post a Comment