5/11/2012

เปเปอร์มาเช่ Paper Mache Made in Thailand


เปเปอร์มาเช่ ‘แอ๋น แอน แอ๊น’ ใส่ดีไซน์แปลงกายกระดาษ22


ลำพังแค่เศษกระดาษหนังสือพิมพ์มีประโยชน์อย่างมากก็แค่ใช้เช็ดกระจก ปูพื้นรองสกปรก หรือชั่งกิโลขาย แต่เมื่อเติมไอเดียของ “นันธิดา รอดสถิตย์” จากเศษขยะธรรมดาๆ ได้แปลงกายเป็นตุ๊กตาเปเปอร์มาเช่ดีไซน์เฉียบ
 ใครที่พบเห็นล้วนต้องแอบยิ้ม
ผู้ให้กำเนิดตุ๊กตาเปเปอร์มาเช่ ในชื่อแบรนด์ “แอ๋น แอน แอ๊น” จบการศึกษาด้านศิลปกรรม จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี โดยผลงานดังกล่าว เริ่มต้นจากทำเป็นงานอดิเรก ก่อนจะพัฒนาจนกลายเป็นรายได้หลักของตัวเอง
andannant01
“ก่อนหน้านี้ เคยทำงานประจำเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์กราฟิก รวมถึงทำงานพิเศษรับจ้างออกแบบงานกราฟิกด้วย ส่วนงานเปเปอร์มาเช่จะทำเป็นงานอดิเรก เก็บสะสมเป็นของเล่นส่วนตัว จนกระทั่งเมื่อประมาณ 3-4 ปีที่แล้ว ไปเดินเที่ยวสวนจตุจักร ก็จะเห็นคนเอาสินค้าต่างๆ มาแอบวางขายรอบๆรั้วสวนจตุจักร โดยไม่ต้องเสียค่าเช่า ก็นึกสนุก ลองทำตุ๊กตาเปเปอร์มาเช่ใส่รังมาวางขายบ้าง ปรากฏว่าขายดีมาก ทำให้เริ่มจะทำออกมาขายจริงจัง ซึ่งตอนนั้นคิดแค่อยากหารายได้เสริม”
andannant02
ลักษณะเด่นของตุ๊กตาเปเปอร์มาเช่จากฝีมือของสาวคนนี้ จะเน้นทำเป็นสัตว์ชนิดต่างๆ ที่คนเราคุ้นเคยดีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นสุนัข หมี แรด ควาย แมว ลิง ฯลฯ แต่เติมความพิเศษ สร้างบุคลิกน่ารัก เป็นสไตล์การ์ตูนหัวโตหน้าตาแสนยียวน และด้วยเทคนิคการอัดและแปะกระดาษจากภายใต้ของแม่พิมพ์ ช่วยให้เก็บรายละเอียดต่างๆ ได้ดีกว่าการทำโดยแปะกระดาษจากผิวนอกของแม่พิมพ์ ดังนั้น จะเห็นได้ว่า รายละเอียดไม่ว่าจะเป็นรอยเหี่ยวย่นจะปรากฏบนใบหน้าตุ๊กตาชัดเจน ทั้งนี้ สร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด เช่น กระปุกออมสิน พวงกุญแจ ที่ห้อยโทรศัพท์มือถือ แม่เหล็กติดตู้เย็น เป็นต้น ราคาเริ่มต้นที่ตัวละ 49-250 บาท
andannant03
นันธิดา เล่าต่อว่า ระยะแรกแทบจะไม่ได้ใช้ทุนสักบาท เพราะวัตถุดิบกระดาษหนังสือพิมพ์เก็บจากกองหนังสือพิมพ์เก่าเหลือทิ้ง
สำหรับช่องทางขายจะตระเวนตามตลาดนัดไอเดียที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ ได้ใช้พื้นที่ขายสินค้าฟรี เช่น งาน Fat festival ของคลื่นวิทยุ FM 104.5 , อินดี้อินทาวน์ หน้าห้างเซ็นทรัลเวิล์ด และถนนคนเดินที่เชียงใหม่ เป็นต้น ซึ่งจากความโดดเด่นของสินค้า นอกจากขายปลีกได้ดีแล้ว ยังมีผู้ค้าส่งหลายราย สนใจสั่งออเดอร์ไปขายต่อด้วย ปัจจุบัน เฉลี่ยมียอดสั่งออเดอร์หลักพันชิ้นต่อเดือน ช่วยให้รายได้จากอาชีพเสริมนี้ แซงหน้ารายได้อาชีพหลักไปแล้ว
andannant04
ในด้านขั้นตอนการทำงานนั้น เจ้าของผลงาน เผยให้ฟังว่า การออกแบบ และทำแม่พิมพ์จะรับผิดชอบและลงมือด้วยตัวเองทั้งหมด ขณะที่ ส่วนการผลิต ได้ไปสอนงานให้แก่กลุ่มแม่บ้านใน จ.สุพรรณบุรี ประมาณ 3-5 คน เพื่อใช้เป็นแรงงานผลิต
andannant05
สำหรับกระบวนการการทำ เริ่มจากออกแบบในกระดาษแล้วปั้นตัวต้นแบบจากดินเหนียว หลังจากนั้น หล่อออกมาเป็นแม่พิมพ์ด้วยปูนขาว
เมื่อได้ตัวแม่พิมพ์แล้ว ใช้กระดาษหนังสือพิมพ์แปะและอัดลงไปตามแม่พิมพ์ จนได้ความหนาประมาณ 0.5 เซนติเมตร จากนั้น นำชิ้นส่วนแต่ละชิ้นที่อัดจากแม่พิมพ์มาประกอบเป็นตัวตุ๊กตาแล้วเคลือบรอย ต่อด้วยปูนชนิดพิเศษ นำไปตากแดดจนแห้งแล้ว ขัดด้วยกระดาษทรายเพื่อให้ผิวเรียบเนียน ทาสีด้วยสีอะครีลิค และสุดท้ายทาเคลือบสียูริเทน เพื่อความคงทนและสวยงาม
andannant06
ทั้งนี้ ช่องทางการตลาดในปัจจุบัน จะมีขายปลีกที่หน้าร้านในตลาดนัดสวนจตุจักร ห้องหมายเลข 278 โครงการ4 ซอย 51/1 และที่ตลาดอินดี้อินทาวน์ รวมถึง มีตัวแทนรับไปขายตามร้านกิฟท์ชอป และแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เช่น ตลาดน้ำอัมพวา ตลาดน้ำที่ราชบุรี เมืองพัทยา เป็นต้น
นันธิดา ยอมรับว่า ตลาดให้การตอบรับสินค้าอย่างดี ทว่า เนื่องจากเป็นงานแฮนด์เมด ในการผลิตประสบอุปสรรค หากมียอดสั่งออเดอร์เข้ามาจำนวนมากๆ พร้อมๆ กัน เช่น ช่วงเทศกาลปีใหม่ สินค้าจะขายดีเป็นพิเศษ จนผลิตไม่ทันตามความต้องการ
อ้างอิงจาก ผู้จัดการออนไลน์

No comments:

Post a Comment