6/04/2018

ฤทธิ์มีดสั้น อรรถรส วรรณกรรมอันยอดเยี่ยม

(หาปกไม่ได้ค่ะ ขออำภัย )
เขียนโดย โกวเล้ง
แปลโดย ว. ณ เมืองลุง




จริงๆ แล้วสาวไกด์ฯ เคยอ่านนิยายกำลังภายในเมื่อนานมาแล้ว คือตอนเด็กๆ เลยค่ะ เพราะพ่อของสาวไกด์ฯ มีเชื้อสายจีน (ใครเคยเจอสาวไกด์ฯ ตัวเป็นๆ มาก่อนอาจไม่เชื่อนะคะ ) ก็เลยมีนิยายแนวนี้อยู่บ้าง แต่จำชื่อเรื่องไม่ได้แล้วค่ะ จนกระทั่งมีเพื่อนฝูงผู้แสนจะใจดีชาวบล็อกหลายท่านมานำเสนอให้ยืมได้ หุๆ หนังสือฟรีมีหรือจะปฏิเสธ สาวไกด์ฯ จึงได้ฤทธิ์มีดสั้นมาครอบครอง (ชั่วคราว) โดยน้องแข – rebel เป็นเพื่อนใจดีในการให้ยืมคราวนี้ 


ยอมรับว่าตอนอ่านเล่ม ๑ แรกๆ ยังไม่คุ้นเคยกับ “วิถี” ของหนังสือแนวนี้ค่ะ จึงค่อนข้างขัดใจ และ “เอ๊ะ” หลายต่อหลายเรื่องมาก เรียกได้ว่า ผู้เขียนนี่เหมือนๆ จะ “หักหลัง” คนอ่านให้ได้งวยงงกันนับครั้งไม่ถ้วน (แปลก อ่านเรื่องนี้แล้วนึกถึงวิธีการแบบเดียวกับที่หัวขโมยแห่งบารามอสเฉยเลยค่ะ เพราะหัวขโมยฯ เองก็มีการหักหลังคนอ่านหลายครั้งหลายคราเช่นกัน) ไม่ว่าจะเป็นการบรรยายให้เชื่อว่า บุรุษผู้นี้เก่งกาจมากมาย แต่ไม่นะ..ยังมีเก่งกว่านี้อีก หรือคิดว่าถูกยาพิษเหรอ เปล่าเราไม่ได้ถูกยาพิษ แต่อ้าว..จริงๆ แล้วโดนยาพิษ (ซ้อนทับซ้อนอีกทีค่ะ ) เรียกได้ว่า อ่านแล้วบางทียังต้องระแวงเลยว่า เฮ้ย..ตกลงมันจะไปในทิศทางไหนกันแน่ (ซึ่งอ่านไปๆ เรียกว่า มันเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งไปซะฉิบค่ะ เพราะเราจะไม่สามารถ “คาดเดา” อะไรได้ง่ายๆ เอาซะเลย) แต่เราว่า โลกความเป็นจริงก็ค่อนข้างคล้ายกับโลกในเรื่องนี้นะคะ (เผอิญไม่เคยอ่านหนังสือแนวนี้เล่มอื่นได้มากพอ จึงไม่สามารถใช้ประโยคที่ว่า “คล้ายกับโลกในหนังสือกำลังภายใน” แทนได้นะคะ ) ทั้งนี้เพราะโลกในหนังสือแนวอื่นๆ ส่วนใหญ่ มักเป็นโลกแบบที่ค่อนข้าง “ชัดเจน” มากๆ น่ะค่ะ คนดีก็ดี คนร้ายก็ร้าย ไม่มีความซับซ้อนมากมายนัก แนวทางการดำเนินของตัวละครก็ค่อนข้างคาดเดาได้ไม่ยาก แต่ในโลกความเป็นจริงมันไม่ใช่น่ะนะคะ ถ้าเทียบชัดๆ เราว่านิยายเรื่องนี้เหมือนคนในสังคมเมือง (ซับซ้อน เข้าใจได้ยาก) ขณะที่นิยายส่วนใหญ่จะเป็นสังคมชนบท (ไม่ซับซ้อน เข้าใจได้ง่าย ดูออกได้ง่ายกว่า) ไม่รู้มาเปรียบเทียบได้ไงอะนะคะ  เอาตามความรู้สึกเจ้าของบล็อกเป็นหลักแล้วกัน 


แต่เรื่องความขัดๆ เอ๊ะๆ นี่มีเฉพาะตอนเริ่มต้นอ่านเล่ม ๑ ค่ะ พออ่านพ้นถึงเล่ม ๒ ไปนี่ก็ชินแล้วค่ะ กับขนบต่างๆ ของหนังสือแนวนี้ พอเล่ม ๓ นี่วางเริ่มไม่ลงแล้วค่ะ เพราะเข้มข้นมากๆ



นอกจากความซับซ้อน และการคาดเดาได้ยากของเนื้อเรื่องแล้ว บุคลิกตัวละครแต่ละตัวก็น่าสนใจมากๆ นับตั้งแต่พระเอกผู้ผิดหวังในความรักอันเนื่องจากเสียสละหญิงสาวที่ตนรักให้กับมิตรผู้มีพระคุณกับตน (เอ็งจะบ้าเรอะ ผู้หญิงไม่ใช่ผักปลานะเฟ้ย) มีมีดสั้นที่มีดแรกไม่เคยพลาดเป้าเป็นอาวุธที่ถูกจัดไว้เป็นอันดับ ๓ ของอาวุธในยุทธภพ (คิดดู อาวุธที่พระเอกมียังอันดับ ๓ เลย ไม่ใช่อันดับ ๑ ด้วยนะ หุๆ) และเห็นน้ำมิตรสำคัญยิ่งกว่าชีวิตตัวเอง แม้ว่ามิตรคนนั้นจะเคยช่วยชีวิตมันเพียง ๑ ครั้งแต่ทำร้ายชีวิตมันนับสิบครั้งก็ตาม (พระเอกมั้ยหละ?)

“...มีแต่สหายรักของลี้คิมฮวงเท่านั้น จึงสามารถทำร้ายลี้คิมฮวงได้ หากคิดจะโค่นมันให้พ่ายแพ้ มิว่าใช้วิธีใดหรืออาวุธใดต่างลำบากอย่างยิ่ง มีแต่ต้องใช้น้ำใจเท่านั้น” (จากเล่ม ๓)



อาฮุยผู้เพิ่งก้าวเข้าสู่วงการฯ บุรุษผู้ทานอาหารได้เชื่องช้าอย่างยิ่ง เพื่อลิ้มรสและซาบซึ้งกับคุณค่าอาหารให้หมดทุกอณู กระบี่ของมันรวดเร็วอย่างยิ่ง และมันมิจำเป็นต้องใช้กระบี่ลือชื่อเพื่อเป็นอาวุธแต่อย่างใด แต่แล้วก็กลับหลงรักหญิงสาวที่ไม่คู่ควรกับมันแม้แต่นิด

“ความจริง สตรีมีกำเนิดมาให้ถูกคนรัก มิใช่ถูกคนเคารพ หากบุรุษเพศคนใดไปเคารพต่อสตรีที่ไม่มีคุณค่าพึงให้เคารพเลย ที่แลกได้มา ต้องเป็นความกลัดกลุ้มและเจ็บช้ำอย่างยิ่ง” (จากเล่ม ๒)



ลิ่มเซียนยี้ สาวงามอันดับหนึ่งในแผ่นดิน หากความงามกับนิสัยของนางนั้นกลับตรงข้ามกันอย่างยิ่ง (ที่เราสะท้อนใจก็คือ เมื่อถึงเวลาที่นางเลือกที่จะใช้ความจริงใจมิใช่จริตมารยาอย่างที่เคยทำมาชั่วชีวิต สิ่งที่นางได้รับกลับไม่เป็นไปดั่งที่นางคาดหมาย และแม้นว่าเป็นด้วยเหตุการณ์กระทำก่อนหน้าของนาง แต่ก็อดทำให้สะท้อนใจไม่ได้จริงๆ) ซุนเซี่ยวอั๊ง โกวเนี้ยน้อยที่นอกจากมีความงามแล้วยังฉลาดยิ่งนัก หากแต่นางก็ได้กระทำการผิดพลาดอันใหญ่หลวงต่อเอี๊ยเอี๊ยของนาง จิ้นบ้อเมี่ย ผู้ซึ่งมีดวงตาสีเทาที่แสนเย็นชา และทำให้คนอ่านเข้าใจว่าแม้แต่มันก็ลุ่มหลงลิ่มเซียนยี้ ฯลฯ


เรียกได้ว่าตัวละครแต่ละตัวนี่มีบุคลิกน่าสนใจอย่างยิ่ง หากเป็นบุรุษ - อาวุธและฝีมือพวกมันก็น่าสนใจอย่างยิ่ง (โกวเล้งเน้นการบรรยายให้เห็นถึงโหงวเฮ้งของแต่ละตัวละครมากๆ ค่ะ และหลายๆ ตัวละครนี่เป็นโหงวเฮ้งที่ “แฟนตาซี” สุดๆ) และแน่นอนค่ะว่า ถ้อยคำคมคายมีมากมายอย่างยิ่งเช่นกัน


อาฮุยแหงนหน้าเหม่อมองท้องฟ้าที่เวิ้งว้าง กล่าวช้าๆ สืบไป

“ฟ้าดินกลัวท่านกระหาย จึงให้น้ำแก่ท่านดื่ม
กลัวท่านหิวโหย จึงให้พืชพันธุ์ธัญญาหารแก่ท่านรับทาน
กลัวท่านหนาวจึงให้ฝ้ายให้แพรพรรณแก่ท่านป้องกันความหนาว
ฟ้าดินทุ่มเทแก่ท่านถึงเพียงนี้
ท่านกระทำเรื่องราวใดแก่ฟ้าดินบ้าง?

บิดามารดาท่านเลี้ยงดูท่านมา
แรงกายแรงใจที่ทุ่มเทยิ่งใหญ่หลวงกว่า
ท่านเคยกระทำความใดทดแทนแก่บิดามารดาบ้าง?”


“ท่านเพียงแต่ทราบ มีวาจาบางประการไม่อาจกล่าว
หากแม้นกล่าวออกไป จะเป็นการทรยศต่อมิตรสหาย
แต่หากท่านตายในสภาพเยี่ยงนี้
ไหนเลยมิใช่เป็นการทรยศต่อบิดามารดาท่าน?
มิใช่เป็นการทรยศต่อฟ้าดิน!?”

“คนเราเกิดมาก็เพื่อให้มีชีวิตดำรงอยู่
ไม่มีผู้ใดมีสิทธิ์ส่งตัวเองไปหาที่ตาย”
(จากเล่ม ๑)




“ข้าพเจ้ามีบางครั้งไม่เข้าใจจริงๆ สตรีเหตุใดมักพอใจทำร้ายคนที่รักนาง”

“เฮอะ นั่นอาจบางทีเนื่องเพราะนางมีแต่สามารถทำร้ายคนที่รักนางเท่านั้น หากทานไม่รักนางไปไหนเลยจะถูกนางทำร้ายได้...หากท่านไม่รักนาง มิว่านางกระทำเรื่องราวใด ท่านต่างไม่แยแสสนใจทั้งสิ้น”

“ท่านคล้ายดั่งเข้าใจอิสตรีได้กระจ่างยิ่ง?”

“ในโลกนี้ ไม่มีบุรุษใดสามารถเข้าใจสตรีได้จริงจัง หากมีผู้ใดเห็นว่ามันเข้าใจอิสตรี ความทุกข์ทรมานของมันจะต้องใหญ่หลวงยิ่งกว่าผู้อื่น”
(จากเล่ม ๒)



เนื่องเพราะลี้คิมฮวงมีความเห็น ชาติกำเนิดของคนหาได้สำคัญนักไม่...คนทั้งมิใช่สุนัข มิใช่อาชา จะต้องมี ‘พันธุ์’ ดีจึงนับว่าดีได้!

คนที่คิดจะเป็นบุคคลเยี่ยงไรนั้น ล้วนอยู่ที่ตัวมันเองทั้งสิ้น
(จากเล่ม ๓)


สรุปแล้วหนังสือเล่มนี้ประกอบไปด้วยทั้งบุคลิกอันโดดเด่นของแต่ละตัวละคร (แต่ตัวละครเยอะมากๆ ค่ะ) คำพูดอันคมคายชวนคิด การดำเนินเรื่องที่ซับซ้อน เปลี่ยนแปลงจนคาดเดาไม่ได้ง่ายๆ นัก ซึ่งต้องเป็นผู้ที่ชอบอ่านหนังสือที่มีคุณสมบัติดังนี้เท่านั้นค่ะที่สาวไกด์ฯ จะแนะนำให้อ่านนะคะ อ้อๆ..แล้วก็พระเอกเรื่องนี้นี่มีชีวิตที่รันทด หดหู่ค่ะ เป็นผู้ที่มีบุคลิกจมทุกข์พอสมควร เพราะฉะนั้นถ้าใครไม่ชอบพระเอกแนวนี้ อย่าเพิ่งทำความรู้จักนิยายแนวนี้ด้วยเรื่องนี้ก็แล้วกันนะคะ 


คำเตือนอีกประการก็คือ สำนวนการแปลของ ว. ณ เมืองลุงนั้น อาจจะอ่านยากนิดหนึ่งตรงที่ผู้แปลใช้ชื่อภาษาจีนตลอดนะคะ (ขณะที่หนังสือเล่มที่เราเคยอ่านตอนเด็กๆ นี่ หลังกล่าวชื่อจีนแล้ววงเล็บสมญานามที่แปลเป็นไทยแล้ว จากนั้นจะใช้สมญานามตลอด ซึ่งนั่นทำให้จำตัวละครได้ง่ายกว่าน่ะค่ะ) แต่ก็ไม่แน่ใจเช่นกันว่า ฤทธิ์มีดสั้นนี่จะมีแปลในสำนวนคนอื่นบ้างหรือเปล่านะคะ

No comments:

Post a Comment