11/26/2013

ไหว้พระเชียงราย เที่ยวบ้านดำ

ไหว้พระเชียงราย เที่ยวบ้านดำ อ ถวัล ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ

ทานอาหารกลางวัน อาหารพื้นเมือง มุมไม้
Rating : 9.5/10 
ที่อยู่ 64 ถนนสันโค้งหลวง ตำบลรอบเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย 57000

เชียงราย ป็นจังหวัดที่ฉันชอบมากทีเดียว ด้วยมีสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลาย อากาศเย็นสบาย  จุดหมายปลายทางมุ่งตรงและเน้นเที่ยวเฉพาะในตัวอำเภอเมืองเชียงราย ฉันจะพาทุกคนไปไหว้พระวัดดัง  แวะชมงานศิลป์แปลกตาที่ บ้านดำ ของศิลปินชื่อดังและปิดท้ายด้วยเที่ยวฟาร์มสุดชิค ไร่บุญรอด

ทริปนี้ใช้เวลาสั้นๆแค่ 2 วัน 1 คืน เท่านั้น มาถึงเชียงรายแต่เช้า แวะรับประทานต้มเลือดหมูร้านดังแถวหอนาฬิกา หลังจากนั้นเที่ยววัดเด่นในเมืองเชียงรายซึ่งมีอยู่หลายวัดตั้งอยู่ไม่ไกลกัน  เริ่มจากวัดแรก วัดมิ่งเมือง ถือเป็นวัดสำคัญทางโบราณคดีของจังหวัดเชียงราย วัดมิ่งเมือง มีบ่อน้ำโบราณ ชื่อ น้ำบ่อจ๊างมูบ มีซุ้มครอบไว้เป็นประติมากรรมปูนปั้นรูปช้างหมอบ เชื่อกันว่าบ่อน้ำนี้เป็นบ่อน้ำโบราณที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นแหล่งน้ำที่ใช้อุปโภคบริโภคของผู้คนโบราณที่สัญจรเข้าออกเมืองได้มาพักกายบริเวณประตูเมืองเพื่อดื่มน้ำและล้างหน้าให้เกิดสิริมงคลก่อนจะเริ่มเดินทางออกหรือเข้าสู่เมืองเชียงราย


สิ่งที่สวยงามของวัด คือพระวิหารไทใหญ่ประยุกต์ผสมผสานกับรูปแบบของวิหารล้านนา หน้าบันแต่งด้วยลวดลายแกะสลักลงรักปิดทองงดงาม ทุกครั้งที่ไปเที่ยววัดทางภาคเหนือจะชอบมองและสังเกตุหน้าบันและลวดลายของวิหาร รู้สึกว่าแต่ละวัดมีศิลปะเอกลักษณ์ที่สวยงามแตกต่างกันไป


จากวัดมิ่งเมือง ใกล้กันก็จะเป็น วัดพระสิงห์ ชื่อของวัดน่าจะเป็นเพราะครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมือง ของ ประเทศไทย คือ พระพุทธสิหิงค์ หรือที่เรียกกันในชื่อสามัญว่า“พระสิงห์”ปัจจุบันวัดพระสิงห์เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธสิหิงค์ หรือพระสิงห์จำลองศิลปะเชียงแสน ปางมารวิชัย


สิ่งที่สวยงามอีกอย่างหนึ่งที่สะดุดตา  คือ บานประตูหลวง ซึ่งเป็นบานประตูเข้าออกภายในวิหารเป็นงานไม้แกะสลักที่ประณีตวิจิตรบรรจง ออกแบบโดยศิลปินเอกชื่อดังระดับโลก อ.ถวัลย์ ดัชนี  เจ้าของและผู้สร้างบ้านดำนั่นเอง บานประตูนี้ได้ช่วยส่งเสริมความงดงามของพระวิหารได้โดดเด่นมากขึ้น


อีกหนึ่งวัดที่แวะก่อนเข้าที่พัก ก็คือ วัดพระแก้ว วัดนี้เองที่ได้ค้นพบพระแก้วมรกตที่ประดิษฐานอยู่ ณ วัดศรีรัตนศาสดาราม(วัดพระแก้ว) กรุงเทพฯ ในปัจจุบัน ตามประวัติเล่าว่า เมื่อปี พ.ศ. 1897 ในสมัย พระเจ้าสามฝั่งแกนเป็นเจ้าเมือง ครองเชียงใหม่นั้น ฟ้าได้ผ่า เจดีย์ร้างองค์หนึ่งและได้พบพระพุทธรูปลงรักปิดทองอยู่ภายในเจดีย์ ต่อมากะเทาะออกจึงได้พบว่าเป็นพระพุทธรูปสีเขียวที่สร้างด้วยหยก ซึ่งก็คือ พระแก้วมรกตนั่นเอง


ภายในวัดมีพิพิธภัณฑ์โฮงหลวงแสงแก้ว เป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงพระพุทธรูปสำคัญ รวมทั้งศิลปวัฒนธรรมเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในรูปแบบที่ทันสมัย


ที่จะเห็นได้เยอะก็คือพระพุทธรูปโบราณที่สร้างด้วยหยกขาวและปูนปั้นแบบต่างๆ


ยันต์โบราณ ทั้งที่มีลายเส้น อักษร และภาพ เพื่อให้เกิดความขลังแก่ผู้ครอบครอง

ช่วงบ่ายไปต่อยัง บ้านดำ หรือ พิพิธภัณฑ์บ้านดำ ซึ่งตั้งอยู่ในตัวเมืองเช่นกัน  สร้างขึ้นโดย อ.ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ ที่มีฝีมือทางด้าน จิตรกรรม ปฏิมากรรม  เปิดให้เข้าชมเข้าชมฟรี ทุกวัน  ยกเว้นวันจันทร์ ตั้งแต่เวลา 8.00-17.00 น.
ข้อมูลบ้านดำอย่างละเอียด คลิ๊ก  http://paiduaykan.com/province/north/chiangrai/bandum.html


ลักษณะของบ้านดำจะเป็นกลุ่มบ้านประกอบไปด้วยบ้านทั้งหมด 36 หลัง สร้างด้วยศิลปะแบบล้านนา ซึ่งบ้านทุกหลังทาด้วยสีดำ ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า “บ้านดำ” และยังเป็นสีที่ อ. ถวัลย์ โปรดปราน  แต่ละหลังจะมีชื่อบ้าน แนวคิดในการสร้าง


อาณาบริเวณค่อนกว้างขวาง  แต่ถึงแม้ทุกอย่างในนี่จะเป็นสีดำทมึน แต่เมื่อเดินเล่นข้างในฉันกลับรู้สึกร่มรื่น เย็นสบายจากต้นไม้ใหญ่ที่ปกคลุมอยู่  ให้อารมณ์เหมือนบ้านป่ากลางธรรมชาติ จะติดอยู่อย่างเดียวด้วยทุกอย่างเป็นสีดำ ทำให้เก็บรายละเอียดของภาพค่อนข้างยากกว่าปกติ


บ้านดำไม่ได้สร้างไว้สำหรับอยู่อาศัยแต่สร้างไว้สำหรับเก็บสิ่งของสะสมต่าง ๆ ของอาจารย์ถวัลย์


ในบ้านแต่ละหลังจะประดับด้วยไม้แกะสลักที่มีลวดลายงดงาม นอกจากไม้แกะสลักแล้วยังประดับด้วยเขาสัตว์ เช่น เขาควาย เขากวาง และยังมีกระดูกสัตว์ เช่น กระดูกช้าง  กระดูกวัวและควาย


ในความดำน่าสะพรึงกลัว แฝงไปด้วยความอ่อนช้อยและลวดลายไม้แกะสลักอันงดงาม


เครื่องปั้นดินเผาก็ยังมาในโทนดำ


มุมประตูทางเข้าบ้านหลังหนึ่งซึ่งไม่ได้เปิดให้เข้าชมข้างใน


รูปปั้นนี้ดูเหมือนจะน่ากลัวแต่สำหรับฉันมองว่าเป็นงานศิลปะแกะสลักปูนปั้นที่ปราณีตเลยทีเดียว


ส่วนหลังนี้เป็นหลังที่อยู่บริเวณหน้าทางเข้า เป็นบ้านดำหลังแรกที่สร้างขึ้น เรียกว่า มหาวิหาร หรือ อาคารพิพิธภัณฑ์ศิลปะ ซึ่งเป็นอาคารที่แสดงผลงาน ของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี งานแสดงหมุนเวียนของศิลปิน ทั้งในและนอกประเทศ  เป็นที่ประชุมสัมมนาทางศิลปะสุนทรียศาสตร์ ปรัชญา ตลอดจนกิจกรรมทางศิลปะ


ฉันชอบงานแกะสลักไม้ของที่นี่ รู้สึกว่าเป็นงานแกะสลักที่อ่อนช้อยมองแล้วเหมือนมีชีวิต



No comments:

Post a Comment