11/02/2011

ตำนานเมืองเชียงใหม่



แท็กฃี่เชียงใหม่ 081 617 2116 พงศ์ศักดิ์
Taxi Chiang Mai 081 617 2116 Patrick
เช่ารถพร้อมคนขับผู้ชำนาญทาง เป็น ชั่วโมง 1/2 วัน 1 วัน รายเดือน เที่ยวเฃียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน
อลังการงานพ์ืชสวนโลก ธันวาคม 2554 - มันาคม 2555
ราคาค่ารถ 250 บาท/เที่ยว สามารถจองไป-กลับได้

ตำนานเมืองเชียงใหม่
โดยสันยาสี  www.sanyasi.org


เชียงใหม่  เป็นชื่อจังหวัดที่โด่งดังที่สุดและใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ   เป็นที่รู้จักของชาวต่างประเทศเป็นอย่างดี  เพราะเป็นเมืองที่มีเอกลักษณ์ด้านประเพณีและวัฒนะธรรมของชาวล้านนา  เมืองที่มีธรรมชาติอันสวยงาม  มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย   ทั้งเป็นทางผ่านไปสู่เมืองแม่ฮ่องสอน 

ความที่เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่กว้างใหญ่ไพศาล  มีหลายอำเภอ   ผมจึงไม่ได้ชมเชียงใหม่ทุกอำเภอ  โดยเฉพาะอำเภอที่ตั้งขึ้นใหม่ซึ่งอยู่ไกลปืนเที่ยง  และเป็นที่อยู่ของชาวเขาหลายเผ่าพันธุ์

พระเจ้ามังรายทรงสร้างเชียงใหม่ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1839  นับถึงปัจจุบัน 2551 ก็ได้ 712 ปี  แต่เมื่อนับเชื้อสายของพระเจ้ามังรายที่ครองเชียงใหม่ก็ได้ 262 ปี  สิ้นรัชสมัยของพระราชวงศ์มังรายปี 2101  มีพระเจ้าเมกุฏิสุทธิวงศ์ครองเมืองเป็นองค์สุดท้าย  จึงเสียเมืองให้แก่พระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์พม่า เมื่อวันเสาร์  ขึ้น 15 ค่ำ  เดือน 7  เวลา 9 โมง  ปี พ.ศ. 2101 นั่นเอง  

พระเจ้ามังรายมหาราช  เป็นพระโอรสของพญาลาวเม็ง  กับพระนางอั้วมิ่งจอมขวัญ ซึ่งเป็นธิดาของท้าวรุ่งแก่นชาย  เจ้าเมืองเชียงรุ้ง   ทรงประสูติเมื่อ พ.ศ. 1782   และขึ้นครองราชย์สมบัติแทนพระบิดาเมื่อ พ.ศ. 1802  ที่เมืองชัยวรนครเชียงลาว  หรือเมือง หิรัญนครเงินยาง  ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสายไหลลงมาบรรจบแม่น้ำโขง
หลังจากขึ้นเสวยราชสมบัติได้ ปี ช้างพระที่นั่งของพระองค์ซึ่งปล่อยไว้ที่ป่าหัวดอยทางทิศตะวันออกได้หลุดหายไป พระองค์จึงเสด็จตามช้างจนถึงดอยจอมทอง ริมฝั่งแม่น้ำกก เห็นภูมิประเทศเป็นที่เหมาะสมชัยภูมิดี ก็โปรดให้สร้างพระนครขึ้นที่นั่นโดยก่อกำแพงโอบรอบเอาดอยจอมทองไว้ตรงกลางเมือง แล้วเรียกว่า เมืองเชียงราย” แล้วทรงย้ายราชธานีจากเมืองหิรัญนครเงินยางมาตั้งอยู่ที่เชียงราย
หลังจากนั้นพระองค์ก็รวบรวมพลเมืองตั้งกองทัพให้เข้มแข็ง แล้วเที่ยวตีหัวเมืองน้อยใหญ่ที่ไม่ยอมสวามิภักดิ์เพื่อรวมเอาล้านนาไทยให้เป็นประเทศเดียวกัน จึงไม่ค่อยได้ประทับอยู่เชียงรายนัก จนปี พ.ศ.1811 พระองค์ประทับอยู่เมืองฝาง ให้ขุนเครื่องโอรสองค์โตครองเมืองเชียงราย ขุนเครื่องคบคิดกบถกับขุนไสเรืองผู้เป็นอำมาตย์ ทรงทราบเรื่องจึงแสร้งทำกลอุบายให้คนไปบอกขุนเครื่องมาเฝ้าที่เมืองฝาง แล้วใช้อ้ายเผียนเอาหน้าไม้ชุบยาพิษไปดักยิงเสียกลางทาง จึงเรียกที่แห่งนั้นว่า เวียงยิง แล้วทรงตั้งขุนครามให้อยู่ครองเมืองเชียงราย ต่อมาทรงยึดเมืองหริภุญชัยได้ในปี 1824 ก็ครองเมืองหริภุญชัยเป็นฐานทัพ ได้ ปีก็ย้ายไปสร้างเมืองใหม่อยู่ทางทิศอีสานของเมืองลำพูน อยู่ได้อีก ปีเห็นว่าสถานที่นั้นเป็นที่ลุ่ม ถึงฤดูฝนน้ำก็ท่วม พวกสัตว์พาหนะก็อยู่ลำบาก จึงย้ายเมืองไปอยู่ฝั่งแม่น้ำปิงเมื่อปี 1829 เรียกว่าเวียงกุ๋มก๋วม หมายถึงสร้างครอบแม่น้ำ เมืองนี้อยู่ที่ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ประทับอยู่เวียงกุ๋มก๋วมจนถึง พ.ศ.1835 ก็เสด็จล่าสัตว์ ณ เชิงดอยสุเทพ ไปพบทำเลที่เหมาะสม มีเทพนิมิตปรากฏ จึงไปสร้างเมืองใหม่ขึ้นที่นั่น พร้อมพระสหายคือ พระร่วงเจ้า กษัตริย์เมืองสุโขทัย และพ่อขุนงำเมือง กษัตริย์เมืองพะเยา เป็นที่ปรึกษา เมื่อปี 1835 จึงเกิดเมืองเชียงใหม่ขึ้นมาแต่บัดนั้น     ดังความพิสดารที่ปรากฏในหนังสือตำนานเมืองเหนือ  ซึ่งท่านสงวน โชติสุขรัตน์  ได้รวบรวมเอกสารตำนานดั้งเดิมมารจนาไว้ดังนี้



เมื่อพระเจ้ามังราย  ทรงทำสงครามแผ่ราชอาณาจักร เพื่อรวมไทยภาคเหนือเข้าด้วยกัน ขณะเดียวกัน  พ่อขุนรามคำแหง ผู้เป็นพระสหายก็สถาปนาอาณาจักรสุโขทัยขึ้นทางภาคกลาง และมีอาณาเขตติดต่อกัน   ทั้งสองพระองค์จึงมิได้รุกรานซึ่งกันและกัน  ตรงกันข้ามกลับมีสัมพันธไมตรีอันดียิ่งต่อกัน   หลังจากที่พระองค์ตีได้อาณาจักรหริภุญชัยจากพญายีบา เมื่อปี พ.ศ. 1824  จึงครองเมืองหริภุญชัยอยู่ 2 ปี  ก็มอบเมืองให้อ้ายฟ้ามนตรี คนสนิทครองเมืองต่อไป   ส่วนพระองค์ได้สร้างเมืองใหม่อยู่ทางทิศอิสานของเมืองหริภุญชัย   อยู่ได้ 3 ปี  เห็นว่าตำบลนั้นเป็นที่ลุ่ม  น้ำมักท่วมในฤดูฝน  หาที่พักอาศัยให้แก่พาหนะ แลสัตว์เลี้ยงลำบากนัก   จึงได้ย้ายมาสร้างเมืองใหม่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำมิงค์ เมื่อ พ.ศ. 1829  เรียกว่า เวียงกุมกวม  (ภาษาเหนือออกเสียงเป็น กุ๋มก๋วม  แปลว่าสร้างครอบแม่น้ำมิงค์)  เมืองนี้ปัจจุบันอยู่ในท้องที่ของตำบลท่าวังตาล  อำเภอสารภี  จังหวัดเชียงใหม่ 
พระเจ้าเมงรายมหาราช ครองเมืองกุมกาม อยู่จนถึงพ.ศ.1834 วันหนึ่งพระองค์เสด็จประพาสล่าสัตว์ ไปทางทิศเหนือ ไปถึงเชิงดอยอ้อยช้าง (หรือดอยกาละ หรือดอยสุเทพ) ทรงประทับแรมอยู่ตำบลบ้านแหนได้ 3 เพลา พระองค์ทรงทอดพระเนตร เห็นสถานที่ชัยภูมิตรงนั้นดีมาก เป็นทำเลที่เหมาะสำหรับการสร้างเมืองอยู่อาศัย และในราตรีนั้นพระองค์ทรงสุบินนิมิตว่า มีบุรุษผู้หนึ่ง (คือเทพยดาจำแลง) มาบอกกับพระองค์ว่า หากพระองค์มาสร้างเมืองอยู่ที่นั่น จะประสพความเจริญรุ่งเรืองยิ่งนัก เมื่อพระองค์ทรงตื่นจากสุบิน ทรงเห็นเป็นศุภนิมิต ก็มีความดีพระทัยเป็นอันมาก ทรงมีพระราชดำริที่จะสร้างเมืองขึ้น
หลังจากที่พระองค์กลับมายัง เวียงกุมกวมแล้ว ครั้นหมดฤดูฝน ฤดูทำนา พระองค์ก็เสด็จประพาสล่าสัตว์ พร้อมด้วยข้าราชการบริพารอีกครั้งหนึ่ง และคงไปล่าสัตว์ตามบริเวณดอยสุเทพตามเดิมคราวนี้ข้าราชบริพารที่ตามเสด็จ ไปพบที่แห่งหนึ่ง เป็นที่น่าอัศจรรย์มาก ที่นั่นเป็นป่าเลาป่าคา และภายนอกบริเวณป่าเลาป่าคานั้นเป็นที่ราบกว้างขวาง ภายในป่าเลาป่าคาซึ่งขึ้นเป็นวงโอบล้อมหญ้าแพรกและแห้วหมูนั้น มีฟานเผือก(เก้งเผือก) สองแม่ลูกอาศัยอยู่ในที่นั้น เมื่อฟานสองตัวออกหากิน สุนัขล่าเนื้อของพรานที่ตามเสด็จก็รุมกันขับไล่ ฟานทั้งสองก็วิ่งกลับเข้าไปในนั้นอีก และสุนัขก็ไม่อาจทำอันตรายได้ พวกพรานทั้งหลายเห็นเป็นอัศจรรย์ก็นำความไปกราบทูลให้พระเจ้ามังรายทรงทราบ เมื่อพระองค์ทรงทราบเช่นนั้นก็เข้าพระทัยว่า สถานที่นั้นเหมาะสมที่จะสร้างเป็นเวียงสำหรับอยู่อาศัยต่อไป พระองค์จึงสั่งให้ข้าราชบริพารช่วยกันล้อมจับฟานทั้งสองแม่ลูกนั้น แล้วให้สร้างพะเนียงล้อมไว้ทางทิศเหนือริมน้ำแม่หยวก
เมื่อพระองค์เสด็จกลับเวียงกุมกวมแล้ว จึงเกณฑ์ไพร่บ้านพลเมืองไปยังสถานที่นั้น เพื่อจะสร้างเมืองใหม่และให้เอาที่ป่าเลาป่าคาที่ฟานสองแม่ลูกนั้นอาศัยอยู่เป็นที่ไชยภูมิสร้างเมือง และทำพิธีตั้งไชยภูมิเมืองขึ้นเมื่อ วันพฤหัสบดี เดือน7 เหนือ (เดือน5ใต้) ขึ้น 8 ค่ำดิถี 8 นาทีจันทรเสวยฤกษ์ 7 ปุณณะสฤกษ์ ในราศีกรกฎ ยามแตรรุ่ง 3 นาที เศษ 2 บาท ไว้ลักขณาเมือง ในราศีมีน อาโปธาตุยามศักราชขึ้นเถลิงศกเป็นจุลศักราช 654 ปีมะโรง จัตวาศก พ.ศ.1835
เมื่อตั้งไชยภูมิเมืองแล้ว พระเจ้ามังรายก็ทรงโปรดให้สร้างพระราชนิเวศน์มณเฑียรขึ้นใหม่ และให้สร้างบ้านเรือนให้ข้าราชบริพารอยู่แวดล้อมเป็นอันมาก เวียงเล็กที่พระเจ้ามังรายทรงสร้างที่อยู่อาศัย เพื่อสร้างเมืองเชียงใหม่คือ เวียงเล็ก” (บริเวณวัดเชียงมั่นตรงที่สร้างเจดีย์ไว้นั้น เป็นหอบรรทมของพระเจ้ามังราย) แล้วพระองค์ได้ให้กรุยเขตที่จะขุดคูเมือง และก่อกำแพงเมืองโดยกำหนดเอาที่ไชยภูมินั้นเป็นจุดศูนย์กลาง แล้ววัดจากศูนย์กลางด้านละ 1,000 วา เป็นขนาดกำแพงเมือง เมื่อกรุยทางไว้เรียบร้อยแล้ว พระองค์มารำพึงอยู่ว่า การที่พระองค์จะสร้างเมืองขึ้นครั้งนี้เป็นงานใหญ่มากควรที่ชวนพระสหายทั้งสองคือ พระยางำเมืองเจ้าเมืองพะเยา และพระยาร่วงเจ้าเมืองสุโขทัย ซึ่งเคยร่วมสาบานเป็นพันธมิตรกันนั้นมาปรึกษาหารือช่วยคิดการสร้างเมืองจะดีกว่า ทรงดำริเช่นนั้นแล้วพระองค์จึงแต่งตั้งให้ราชบุรุษถือพระราชสาส์น ไปทูลเชิญพระสหายทั้งสองนั้นมายังเวียงมั่น ซึ่งทำให้การสร้างเมืองหยุดชะงักไปวาระหนึ่ง เป็นเวลา 3 ปีเศษ อาจเป็นเพราะพระสหายทั้งสองไม่มีเวลาที่จะเสด็จมายังเมืองใหม่ และอีกประการหนึ่ง ในระหว่างนี้มีข่าวว่า พระยายีบาเจ้าลำพูนที่แตกหนีไปอาศัยอยู่กับพญาเบิกผู้บุตร (บางแห่งว่าน้อง) จะยกทัพมาตีเมืองลำพูนคืน และจะยกมาตีเมืองกุมกวมของพระเจ้ามังรายด้วย พระเจ้ามังรายต้องเตรียมรับศึก ซึ่งการยุทธครั้งนี้ เกิดขึ้นในเดือน 4 เหนือก่อนการสร้างเมืองเชียงใหม่ 4 เดือน เป็นการยุทธครั้งใหญ่ยิ่งในรัชสมัยสองพระองค์เมื่อกษัตริย์ทั้งสามพร้อมเพรียงกันแล้ว ก็ปรึกษาหารือกันถึงการวางแผนผังสร้างเมือง พระเจ้าเมงรายมีความเห็นว่า จะสร้างกำแพงเมืองวัดจากไชยภูมิอันเป็นศูนย์กลางออกไปด้านละ 1,000 วาเป็นตัวเมืองกว้าง 2,000 วา หรือ100เส้น
พระยางำเมือง ประมุขแห่งอาณาจักรพะเยาเห็นชอบด้วย แต่พระยาร่วงมีความเห็นว่าการที่จะสร้างเมืองกว้างขวางเช่นนั้น หากในเวลาไม่มีศึกสงคราม ก็ไม่เป็นที่น่าวิตกอย่างใด หากแต่ว่าเกิดศึกมาประชิดติดเมืองแล้วการป้องกันบ้านเมืองจะลำบากมาก เพราะตัวเมืองกว้างขวางเกินไป ควรที่วัดจากไชยภูมิเมืองไปด้วนละ 500 วา เป็นเมืองกว้าง 1,000 วา จะดีกว่าซึ่งถ้าหากจะมีข้าศึกมาเบียดเบียนก็ไม่เป็นการยากลำบากในการป้องกัน และหากว่าในการข้างหน้า บ้านเมืองเจริญขึ้น ก็ย่อมขยายตัวเมืองออกไปได้ตามกาลเวลา
เมื่อได้ยินพระสหายออกความเห็นเช่นนั้น พระเจ้ามังรายก็ทรงดัดแปลงผังเมืองใหม่ โดยให้มีด้านยาวเพียง 1,000 วาดังเดิม และให้มีด้านกว้างวัดจากหลักไชยภูมิไปเพียง 400 วาเป็นกว้าง 800 วา เป็นรูปสี่เหลียมผืนผ้า ซึ่งพระสหายทั้งสองก็เห็นชอบด้วย
          ดังนั้นพระเจ้ามังรายจึงเชิญชวนพระสหายทั้งสองออกไปยังไชยภูมิ เพื่อตรวจดูทำเลสถานที่ๆจะสร้างพระราชนิเวศน์มณเฑียรถาวรใหม่ เมื่อกษัตริย์ทั้งสามไปถึงสถานที่แห่งนั้น ก็ปรากฏศุภนิมิตให้เห็นคือ มีหนูเผือกตัวใหญ่เท่าดุมเกวียน มีบริวาร 4 ตัวก็วิ่งออกจากไชยภูมิที่นั้น ไปทางทิศตะวันออกก่อน แล้วบ่ายหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ไปลงรูแห่งหนึ่งที่ใต้ต้นนิโครธ(ต้นไม้ลุง) กษัตริย์ทั้งสามเห็นเป็นนิมิตอันดีเช่นนั้น ก็จัดแต่งดอกไม้ธูปเทียนไปสักการบูชาที่ต้นนิโครธนั้น (ต้นไม้ต้นนี้ถูกทำลายไปในรัชสมัย พระเจ้าติโลกมหาราชพระองค์ทรงให้ขุดขึ้นเพื่อสร้างพระราชนิเวศน์มณเฑียรใหม่) แล้วให้จัดสร้างรั้วไม้ล้อมรอบไม้นั้นจึงถือว่าเป็นไม้เสื้อเมืองหรือศรีเมืองสืบมา




          แล้วทั้งสามกษัตริย์ ก็ให้บุกเบิกแล้วแผ้วถางบริเวณ ที่จะสร้างเป็นเมือง แล้วขึงเชื่อกระดับดู ปรากฏว่าพื้นที่นั้นลาดไปทางทิศตะวันออกเป็นการต้องกับลักษณะไชยภูมิที่จะสร้างเป็นนครยิ่งนัก เมื่อพระยาร่วงและพระยางำเมืองทรงเห็นดังนั้น ก็กล่าวแก่พระเจ้ามังรายว่า ทำเลที่จะสร้างเมืองนี้ถูกต้องด้วยหลักไชยภูมิ 7 ประการคือ
1.     มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า เคยมีกวางเผือกสองตัวแม่ลูกเคยมาอาศัยอยู่ที่นี้ และมีคนพากันมาสักการบูชาเป็นอันมาก
2.     มีฟาน(เก้ง) เผือกสองแม่ลูกมาอาศัย และได้ต่อสู้กับฝูงสุนัขของพราน ซึ่งตามเสด็จพระเจ้ามังรายมาดังกล่าวแล้ว
3.     ได้เห็นหนูเผือกพร้อมด้วยบริวาร 4 ตัว วิ่งเข้าโคนต้นไม้นิโครธ(ไม้ลุง)
4.     พื้นที่สูงทางทิศตะวันตก เอียงลาดไปทางทิศตะวันออกเป็นทำเลต้องด้วยลักษณะพื้นที่ที่จะสร้างเมือง
5.     มีน้ำตกไหลจากดอยสุเทพ โอบล้อมตัวเมืองไว้เป็นการสะดวกในการที่ชาวเมืองจะได้ใช้สอยบริโภค
6.     มีหนองน้ำใหญ่อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ของตัวเมืองปรากฏว่า เคยเป็นที่เคารพสักการะของท้าวพระยาเมืองต่างๆมาแล้วและขณะนั้นก็ยังเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนอยู่ (หนองนี้ เรียกว่า หนองบัว อยู่ตรงสนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่ ต่อมาในสมัยเจ้าอินทวิชยานนท์ ทรงใช้ขุดระบายน้ำลงแม่น้ำปิงเสียจึงตื้นเขินไป)
7.     แม่น้ำระมิงค์(หรือแม่น้ำปิง) ซึ่งเป็นแม่น้ำที่เกิดจากเทือกเขาผีปันน้ำ ซึ่งบนเทือกเขานั้นมีเขาลูกหนึ่งอยู่บนหลังเขาเชียงดาวชื่อว่า ดอยอ่างสลุง (ชาวเมืองเรียกว่าอ่างสะหลง) ซึ่งถือว่าเป็นที่สรงน้ำของพระพุทธเจ้า ไหลผ่านตัวเมือง นับว่าเป็นมงคลแก่บ้านเมืองอีกประการหนึ่งด้วย
ซึ่งไชยภูมิทั้ง 7 ประการนี้หายากยิ่งที่จะสร้างเป็นพระนคร
พระเจ้ามังราย ได้ยินพระสหายกล่าวเช่นนั้น ก็ทรงโสมนัสยินดีเป็นที่ยิ่ง ทรงชมเชยว่า พระสหายทั้งสองเป็นผู้มีสติปัญญาลึกซึ้งยิ่งนัก เมื่อตกลงเป็นที่แน่นอนแล้ว ทั้งสามกษัตริย์ก็ช่วยกันอำนวยการสร้างเมือง ก่อนสร้างได้เริ่มทำพิธีบวงสรวงเทพดาอารักษ์เสียก่อน เมื่อทำพิธีพลีกรรมบวงสรวงเรียบร้อยแล้ว ก็ให้แบ่งพลเมืองออกเป็น 2 พวกพวกหนึ่งจำนวน 5 หมื่นคน ช่วยกันก่อสร้างพระราชนิเวศน์มณเฑียรสถาน อีกพวกหนึ่งจำนวน 4 หมื่นคนช่วยกันขุดคูเมือง และก่อกำแพงเมือง รวมใช้กำลังคนในการสร้างเมืองเชียงใหม่ 9 หมื่นคน การขุดคูเมืองนั้นให้ขุดทางทิศอิสาน (ตะวันออกเฉียงเหนือ) ก่อน คือเริ่มที่แจ่งศรีภูมิอันเป็นศรีพระนครก่อน แล้วโอบล้อมไปทางทิศใต้แล้ววงรอบให้บรรจบกันทั้ง 4 ด้าน การสร้างได้ทำพร้อมๆกันเลยทีเดียว และในวันเดียวกันนี้ก็ได้ ทำพิธีฝังเสาหลักเมือง ในวันพฤหัสบดี เดือนแปดเหนือ (เดือน 6 ใต้) ปีวอกอัฐศก จุลศักราช 657 (พ.ศ. 1835) ก่อนการทำพิธีขุดคูเมืองและสร้างพระราชนิเวศน์มณเฑียรสถาน
     การสร้างเมืองเชียงใหม่ใช้เวลาทั้งหมด 4 เดือน ก็สำเร็จเรียบร้อย พระเจ้ามังรายจึงโปรดให้จัดงาน ฉลองสมโภชเมืองใหม่อย่างสนุกสนานเป็นการใหญ่ยิ่ง เป็นเวลา 7 วัน 7 คืน ได้เลี้ยงดูไพร่บ้าน พลเมือง และแจกจ่ายของรางวัลให้ทั่วหน้า แล้วทั้งสามกษัตริย์ก็ร่วมใจกันขนานนามเมืองใหม่ว่า เมืองนพบุรี ศรีนครพิงค์ เชียงใหม่
     พระเจ้ามังรายครองเมืองเชียงใหม่ต่อมาจนกระทั่งพ.ศ. 1860 ทรงพระชนมายุได้ 79 พรรษา (บางแห่งว่า 80 พรรษา) วันหนึ่งพระองค์เสด็จไปประภาสที่ตลาดกลางเวียง เกิดอัสนีบาตรสวรรคตเชื่อกันว่ามีอาถรรพณ์ เมื่อ 30 ปีก่อน มีต้นโพธิ์ใหญ่ขนาด 4-5 อ้อม อยู่ต้นหนึ่งและมีหอเรียกว่า หอเมงราย เวลานี้ย้ายไปไว้หลังต้นโพธิ์ ข้างร้านตัดเสื้อ ถนนปกเกล้าห่างจากที่เดิมประมาณ 100 เมตรเศษ)รวมเวลาที่พระองค์ครองเมืองเชียงใหม่ 21 ปี เป็นกษัตริย์ครองอาณาจักรลานนาไทย 58 ปี
     กษัตริย์เชื้อสายของพระองค์ได้ครองเมืองเชียงใหม่ เป็นราชธานีต่อมาอีกหลายชั่วคน แต่บางองค์ก็ย้ายราชธานีไปตั้งอยู่ที่เมืองเชียงรายและเชียงแสน เชียงใหม่เป็นอิสระอยู่ได้ 262 ปีถึงพ.ศ. 2101 ในรัชกาลของพระเจ้าเมกุฎิวิสุทธิวงศ์หรือชาวเมืองเรียกว่าเจ้าแม่กุเพราะเป็นชาวไทยใหญ่สืบเชื้อสายมาจากเจ้าขุนคราม ราชโอรสของพระเจ้ามังราย สำเนียงชาวไทยใหญ่แปร่ง จึงขนานพระนามเพี้ยนเป็น เจ้าแม่กุพระเจ้าเมกุฎฯพยายามจะกู้เอกราชในปีพ.ศ. 2107 แต่ไม่สำเร็จ พระเจ้าบุเรงนองได้ยกกองทัพมาปราบ และจับพระองค์ไปกักไว้ที่กรุงหงสาวดีจนถึงแก่ทิวงคต พม่าได้ตั้งให้นางพระยาวิสุทธิเทวี (อาจจะเป็นพระนางจิรประภา ราชนิดาของพระเมืองเกษเกล้าซึ่งเคยรั้งเมืองเชียงใหม่ เมื่อพ.ศ. 2088) ครองเมืองเชียงใหม่ได้อีก 14 ปี พระนางก็ทิวงคต ต่อมาในปี พ.ศ. 2122 พระเจ้าหงสาวดี (บุเรงนอง) จึงให้เจ้าฟ้าสารวดีหรือมังซานรธามังคุยหรือ มังนรธาฉ่อ ราชบุตร ผู้ครองเมืองสาวถีมาครองเมืองเชียงใหม่ นับว่าสิ้นราชวงศ์เมงรายอย่างเด็ดขาดแต่นั้นมา เชื้อสายของพระเจ้าหงสาวดีได้ครองเมืองเชียงใหม่ต่อมาอีก 3 องค์ ก็สิ้นวงศ์ ในสมัยที่เจ้าฟ้าสารวดี หรือพระเจ้าเชียงใหม่มังซานรธามังคุยครองเมืองเชียงใหม่นี้ ตรงกับในรัชสมัยของสมเด็จ พระนเรศวรมหาราช พระเจ้าเชียงใหม่ได้ยอมสวามิภักดิ์ ต่อกรุงศรีอยุธยาจนตลอดรัชกาลของพระองค์



3 กษัตริย์ผู้สร้างเชียงใหม่                     พระธาตุดอยสุเทพ             วัดเจ็ดยอด สร้างสมัยพระเจ้าติโลกราช รัชกาลที่ ๙

แท็กฃี่เชียงใหม่ 081 617 2116 พงศ์ศักดิ์
Taxi Chiang Mai 081 617 2116 Patrick

    
 เมื่อสิ้นวงศ์บุเรงนองแล้ว ก็มีกษัตริย์เจ้าเมืองน่านมาครองเมืองเชียงใหม่ มีพระนามว่า พระเจ้าเชียงใหม่ศรีสองเมือง หรือ เจ้าพระยาพลศึกซ้ายชัยสงคราม ทรงแข็งเมืองเป็นอิสรภาพ ไม่ยอมขึ้นต่อพม่า แต่เมื่อพระเจ้าสุทโธธรรมราชากษัตริย์พม่า ยกกองทัพมาปราบในปี พ.ศ. 2174 ตีเชียงใหม่แตกและจับตัวพระเจ้าเชียงใหม่ไปขังไว้ที่เมืองหงสาวดีจนทิวงคต เชียงใหม่ก็ได้ตกอยู่ในอำนาจของพม่าอีกครั้งหนึ่ง พม่าได้ตั้งให้พระยาหลวงทิพยเนตร เจ้าเมืองฝางมาครองเชียงใหม่ เมื่อหลวงทิพยเนตรถึงแก่กรรม บุตรชื่อพระแสนเมือง หรือทางพงสาวดารกรุงศรีอยุธยาเรียกพระยาแสนหลวง ได้ครองเมืองแทนในปี พ.ศ. 2204 แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  ทรงยกกองทัพหลวงมาตีเมืองเชียงใหม่ โดยให้เจ้าพระยาโกษา(เหล็ก) เป็นแม่ทัพหน้า ตีเมืองเชียงใหม่ได้ สมเด็จพระนารายณ์ทรงได้ธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่เป็นบาทบริจาริกา และเมื่อนางนั้นทรงครรภ์ขึ้น พระองค์ทรงมีความละอาย จึงยกนางนั้นให้แก่พระเทพราชา เจ้ากรมช้าง ต่อมานางนั้นประสูติกุมาร ซึ่งต่อมาคือ ขุนหลวงสรศักดิ์ หรือพระพุทธเจ้าเสือ มีนามเดิมว่า เดื่อ สมเด็จพระนารายณ์ทรงตีได้เมืองเชียงใหม่ แต่ไม่ได้มอบให้ผู้ใดครองเมืองเพราะอยู่ห่างไกลกันมาก ยากแก่การป้องกันรักษา และพม่าก็อาจจะยกมาตีเอาคืนเมื่อไรก็ได้ จึงกวาดต้อนครอบครัวชาวเมืองไป และจับตัวพระเยาวราชกวีเอกของเมืองเชียงใหม่ไปด้วยผู้หนึ่ง พระเยาวราชผู้นี้ได้เคยประคารมกวีกับศรีปราชญ์ยอดกวีในยุคนั้นเป็นที่น่าเสียดายที่ไม่อาจทราบได้ว่าพระเยาวราชผู้นี้คือใคร เพราะในตำนานพื้นเมืองไม่ได้กล่าวถึงเลย นอกจากในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาเท่านั้น
     นับแต่พ.ศ. 2211 เป็นต้นมา พม่าได้เริ่มยกกองทัพมาตีหัวเมืองต่างๆ ในลานนาไทยโดยเริ่มตีหัวเมืองชายแดนก่อน และตีได้เชียงรายเชียงแสน เมื่อตีได้เมืองใด ก็จัดแต่งผู้คนปกครองไว้ ส่วนเมืองเชียงใหม่ยังคงล้มลุกคลุกคลานอยู่ บางครั้งพม่าก็เข้าปกครองแต่ถูกชาวเมืองขับไล่ เกิดการจลาจลอยู่เสมอ ไม่เป็นปกติสุข ชาวเมืองต้องได้รับความเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า หลังจากที่เจ้าองค์นกได้เอกราชและครองเมืองโดยอิสระสืบมาถึงพ.ศ. 2304 เจ้าองค์นกสิ้นพระชนม์แล้วเจ้าจันทร์ราชบุตรได้ครองเมือง แต่เจ้าปัดอนุชาคิดกบฏชิงเอาราชสมบัติได้ แต่ไม่ครองเมืองเอง ยกให้เจ้าอธิการวัดดวงดี ลาสิขาบทมาครองเมือง ต่อมาในปีพ.ศ. 2306 กองทัพพม่ายกมา 9 ทัพมีโป่อภัยคามินีเป็นแม่ทัพยกมาตีเมืองเชียงใหม่ ลำพูน พม่ากวาดต้อนเครือญาติวงศ์เจ้าองค์นก และชาวเมืองเชียงใหม่ส่งไปเมืองอังวะเป็นอันมาก และโป่อภัยคามินีก็ยกเข้าตั้งรักษาเมืองเชียงใหม่ไว้
     พม่า ได้เข้ายึดครองเมืองเชียงใหม่ ต่อมาในปีพ.ศ. 2312 โป่อภัยคามินีถึงแก่กรรม พม่าจึงให้โป่มะยิหวุ่น(พม่าเรียกแมงแงคามินี หรือสะโดเมงเตง) หรือที่ชาวเมืองเชียงใหม่เรียกกันว่าโป่หัวขาว เพราะชอบใช้ผ้าขาวโพกศีรษะเสมอ มาเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ โป่หัวขาวผู้นี้ชอบกดขี่ข่มเหงชาวเมืองมาก และเกิดทะเลาะวิวาทกับขุนนางชาวเมือง ถึงกับเกิดการสู้รบกันกลางเวียงเชียงใหม่หลายครั้ง ขุนนางชาวเมืองส่วนมากไม่นิยมชมชอบ พม่าจึงสั่งให้โป่สุพลามาควบคุมอีกคนหนึ่ง ในยุคนี้ลานนาไทยมีคนดีเกิดขึ้น เช่น พระเจ้ากาวิละ และพระยาจ่าบ้าน(บุญมา)ผู้เป็นน้าชาย จึงได้คบคิดกันกู้อิสรภาพ นำทัพของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เข้าตีเมืองเชียงใหม่จากพม่าได้ในปีพ.ศ. 2317 พม่าที่ครองเมืองเชียงใหม่หนีออกไปตั้งอยู่เมืองเชียงแสน ซึ่งต่อมาถูกกองทัพ กรุงเทพฯ และกองทัพเชียงใหม่ตีแตกในปี พ.ศ. 2347 แต่นั้นมาพม่าก็สิ้นอำนาจในแว่นแคว้นลานนาไทยโดยสิ้นเชิง
     ในระหว่างพ.ศ. 2317-2347 พม่าพยายามจะตีเอาเมืองเชียงใหม่คืนหลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จ เพราะชาวเมืองเชียงใหม่ต่อสู้ป้องกันบ้านเมืองอย่างแข็งแรง และมีกองทัพกรุงคอยช่วยเหลือ พม่าจึงเป็นฝ่ายปราชัยล่าถอยไปอย่างยับเยินทุกครั้ง เพราะพม่ายกกองทัพมารบกวนอยู่บ่อยๆนี้เองทำให้เมืองเชียงใหม่กลายเป็นเมืองร้างไปชั่ววาระหนึ่ง เพราะกองทัพที่ตั้งรักษาเมืองอยู่นั้นขาดแคลนเสบียงอาหาร ปรากฎว่าในการสู้รบครั้งนี้ชาวเมืองอดอยากถึงกับจับพม่าฆ่ากินเป็นอาหาร ชาวเมืองไม่มีเวลาที่จะทำมาหากิน เพราะต้องเตรียมรับมือกับพม่า ซึ่งอาจจะยกมาเวลาใดก็ได้ และกองทัพพม่าที่ยกมามักจะมีกำลังเหนือกว่าทุกครั้ง แต่ชาวเมืองเชียงใหม่ก็ต่อสู้อย่างทรหดอดทน ทุกคนยอมพลีชีวิตดีกว่าจะอยู่ใต้อำนาจของต่างชาติอีก แต่ด้วยความจำเป็นที่บ้านเมืองชำรุดทรุดโทรม ป้อมคูประตูหอรบปรักหักพังลง จนใช้การไม่ได้เพราะต้องรับศึกหลายต่อหลายครั้ง ครั้นจะบูรณะปฏิสังขรณ์ก็ไม่มีเวลาพอเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่คนแรกคือ พระยาจ่าบ้าน(บุญมา) และพระเจ้ากาวิละ ซึ่งได้ครองเมืองเชียงใหม่ต่อมา ก็ได้ย้ายไปตั้งอยู่ที่เวียงป่าซาง ก็ล่าถอยได้ง่าย เมืองเชียงใหม่ได้เป็นเมืองร้างอยู่ 20 ปีเศษ จนถึงพ.ศ. 2339 ตรงกับในรัชกาลที่ 1 กรุงรัตนโกสินทร์ พระเจ้ากาวิละพระเจ้าผู้ครองนครเมืองเชียงใหม่ จึงยกเข้ามาตั้งเมืองเชียงใหม่อีกครั้งหนึ่งและได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์บ้านเมืองวัดวาอารามซึ่งรกร้างปรักหักพังไปนั้นขึ้นใหม่ จนเจริญรุ่งเรืองสืบมาจนทุกวันนี้
     เชื้อสายของพระเจ้าบรมราชาธิบดี หรือพระเจ้ากาวิละ ได้เป็นพระเจ้าผู้ครองนคร และเจ้าผู้ครองนครสืบมา จนถึงเจ้าแก้วนวรัฐฯ นับเป็นเจ้าผู้ครองนครองค์ที่ 9 และเป็นองค์สุดท้ายประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตยในพ.ศ. 2475 ทางราชการได้ประกาศให้ยกเลิก ตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครเสีย
     นับแต่พระเจ้ากาวิละสืบมา เมืองเชียงใหม่และหัวเมืองต่างๆ ในแว่นแคว้นลานนาไทยได้ขึ้นต่อกรุงเทพพระมหานคร และมีฐานะเปรียบเสมือนประเทศราช ถวายดอกไม้เงินดอกไม้ทอง และเครื่องราชบรรณาการต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครั้นในปีพ.ศ. 2417 ในสมัยพระอินทวิทชยานนท์ฯ โปรดเกล้าฯ ให้พระนรินทรราชเสนี(พุ่มต่อมาเป็นเจ้าพระยารัตนาธิเบศร) มาเป็นข้าหลวงประจำจังหวัดเชียงใหม่
     พ.ศ. 2439 ทางราชการได้จัดการปกครองแบบ มณฑลเทศาภิบาล โปรดให้รวมหัวเมืองต่างๆในปริมณฑลของเมืองเชียงใหม่ เข้าด้วยกัน เรียกว่ามณฑลลาวเฉียง
     พ.ศ. 2442 ให้เปลี่ยนชื่อมณฑลลาวเฉียง เป็นมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ
     พ.ศ. 2444 ให้เปลี่ยนชื่อมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นมณฑลพายัพ
     พ.ศ. 2457 ให้รวมมณฑลพายัพ กับมณฑลมหาราษฎร์เข้าด้วยกัน เรียกว่า ภาคพายัพ และแต่งตั้งข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพเรียกว่า อุปราช
     พ.ศ. 2467 ให้เลิกภาคพายัพ คงมีมณฑลพายัพ
     พ.ศ. 2476 ให้ยกเลิกการปกครองแบบเทศาภิบาล และให้ยุบมณฑลพายัพเสีย เชียงใหม่มีฐานะเป็นเพียงจังหวัด ขึ้นตรงต่อกระทรวงมหาดไทยแต่นั้นมา และให้ข้าหลวงประจำจังหวัด ปัจจุบันตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัด ได้เปลี่ยนเป็น ผู้ว่าราชการจังหวัด
รายพระนามกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรลานนาไทย
ราชวงศ์มังราย
     รัชกาลที่ 1  พระเจ้ามังรายมหาราช พ.ศ. 1801-1860(สร้างเมืองเชียงใหม่พ.ศ. 1839)
     รัชกาลที่ 2  พระเจ้าชัยสงคราม พ.ศ. 1860-1870
     รัชกาลที่ 3  พระเจ้าแสนภู        พ.ศ. 1870-1877
     รัชกาลที่ 4  พระเจ้าคำฟู          พ.ศ. 1877-1888
     รัชกาลที่ 5  พระเจ้าผายู          พ.ศ.  1888-1910
     รัชกาลที่ 6  พระเจ้าคือนา        พ.ศ. 1910-1931
     รัชกาลที่ 7  พระเจ้าแสนเมืองมา  พ.ศ. 1931-1954
     รัชกาลที่ 8  พระเจ้าสามฝั่งแกน   พ.ศ. 1954-1985 (ถูกจับปลดออกจากราชสมบัติ)
     รัชกาลที่ 9  พระเจ้าติโลกราช    พ.ศ. 1985-2030 (ทำสังคายนาครั้งที่ 8 ของโลก ที่วัดเจ็ดยอด เชียงใหม่ พ.ศ. 2020 ยุคทองของพระพุทธศาสนา
     รัชกาลที่ 10 พระเจ้ายอดเชียงราย  (ราชนัดดาของพระเจ้าติโลกราช) พ.ศ. 2030-2038(ถูกจับปลงออกจากราชสมบัติ)
     รัชกาลที่ 11 พระเจ้าเมืองแก้ว หรือพระเจ้าพิลกปนัดดาธิราช พ.ศ. 2083-2068
     รัชกาลที่ 12 พระเมืองเกษเกล้า พ.ศ. 2068-2081 โอรสชิงราชสมบัติ (ครั้งที่ 1)
     รัชกาลที่ 13 พระเจ้าชายคำ หรือเจ้าทรายดำ พ.ศ. 2081-2086 (ถูกขุนนางจับฆ่า)
                   พระเมืองเกษเกล้าขึ้นครองอีกเป็นครั้งที่ 2 พ.ศ. 2086-2088 ถูกแสงดาวขุนนางคิดกบฏจับปลงพระชนม์  บ้านเมืองเกิดจลาจล พระนางจิรประภามหาเทวี ได้ขึ้นรักษาราชบัลลังก์ สมเด็จพระไชยราชา กรุงศรีอยุธยายกมาตีเมืองชียงใหม่
                   รัชกาลที่ 14 พระไชยเชษฐาธิราช พ.ศ. 2089-2091 มาจากล้านช้าง เป็นพระนัดดาของพระเมืองเกษเกล้า
                   (ว่างกษัตริย์ แต่ พ.ศ. 2091-2094 เป็นเวลา 3 ปี)
                   รัชกาลที่ 15 พระเจ้าเมกุฏิสุทธิวงศ์ พ.ศ. 2094-2101 เชื้อสายขุนเครือโอรสของพระเจ้ามังราย เป็นไทยใหญ่(เงี้ยว) เสียเอกราชแก่พระเจ้าบุเรงนอง พระเจ้าเมกุฏิฯ ครองต่ออีกถึง พ.ศ. 2007 ถูกจับไปกรุงหงสาวดี เพราะคิดแข็งเมือง พม่าแต่งตั้งให้นางพระยาวิสุทธิราชเทวีครองเมืองต่อมาได้อีก 14 ปีพ.ศ. 2121 ทิวงคต พม่าให้เจ้าฟ้าสารวดี หรือมังนรธาฉ่มาครองเมืองเชียงใหม่ นับว่าเป็นวงศ์บุเรงนองครองเชียงใหม่ต่อมาอีก พ.ศ. 2122-2150 สมัยนี้เชียงใหม่ขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา เชื้อสายของบุเรงนองที่ครองเมืองเชียงใหม่ต่อมาก็คือ มองซายเทา พ.ศ. 2150-2151 มองกวยตอ พ.ศ. 2151-2153 อนุชามองกวยตอ พ.ศ. 2153-2157 สิ้นวงศ์บุเรงนอง เชื้อวงศ์เจ้าเมืองน่านคือเจ้าพระยาพลศึกซ้ายไชยสงคราม หรือเจ้าศรีสองเมืองครองแต่พ.ศ. 2157-2174 (แข็งเมืองไม่ขึ้นต่อพม่า) พระเจ้าสุทโธธรรมราชายกกองทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ และจับตัวเจ้าพระยาพลศึกซ้ายไชยสงครามไปขังไว้ที่กรุงหงสาวดี พระเจ้าสุทโธฯ ให้พระยาหลวงทิพยเนตรเจ้าเมืองฝางมาครองเมืองเชียงใหม่ได้ 19 ปี พระยาหลวงทิพยเนตรถึงแก่กรรม พระแสนเมืองหรือพระยาแสนหลวงบุตรได้ครองเมืองในพ.ศ. 2193 ครองได้ 13 ปี เสียเมืองแก่เจ้าพระยาโกษาธิบดี(เหล็ก) พ.ศ. 2205
                   พระเจ้าเมืองแพร่มาครองอีกพ.ศ. 2206-2215 ( 9ปี )
                   อึ้งแซะ ราชบุตรพระเจ้าอังวะ พ.ศ. 2215-2228 ( 13ปี )
                   มังแรนร่า บุตรอึ้งแซะ ครอง พ.ศ. 2228-2270 ( 42ปี )
เทพสิงห์ชาวเมืองยวนใต้กู้อิสรภาพ จับโป่มังแรนร่าฆ่าเสีย เจ้าองค์คำหรือเจ้าองค์นก เชื้อวงศ์หลวงพระบางขับไล่เทพสิงห์ และขึ้นครองเชียงใหม่ พ.ศ. 2270-2304 บุตรเจ้าองค์คำครองถึง 2306 เสียเมืองแก่พม่า
          โป่อภัยคามินี ครองพ.ศ. 2306-2312 ถึงแก่กรรม พม่าจึงส่งโป่มะยุง่วนมาครองพ.ศ. 2312-2317 ถูกเจ้ากาวิละกู้อิสระภาพเชียงใหม่เป็นอิสระแต่พ.ศ. 2317 และร้างจนถึง พ.ศ. 2339 พระเจ้ากาวิละ จึงได้เข้ามาตั้งเมืองเชียงใหม่อีกครั้งหนึ่ง และเจริญรุ่งเรืองมาตราบทุกวันนี้



แนะนำ โรงแรมดีๆ ของจังหวัดเชียงใหม่
แนะนำ โรงแรมดีๆ ของจังหวัดเชียงราย 
แนะนำ โรงแรมดีๆ ของกรุงเทพ 
แนะนำ โรงแรมดีๆ ของจังหวัดภูเก็ต 
แนะนำ โรงแรมดีๆ ของภาคเหนือและภาคกลาง 
เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ปาย น่าน สุโขทัย - บริการเที่ยวทั่วไทย แท็กซี่ จัดทัวร์ พร้อมทั้งให้คำแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ จองตั๋วเครื่องบินราคาถูก จองที่พัก 
ติดต่อ พงศ์ศักดิ์ 081 617 2116 เพ็ญนภา (แก้ว) 081 498 0613
 อีเมล์: neomart@gmail.com

No comments:

Post a Comment