12/14/2014

'โรงเตี๊ยมถ้ำง๊อบ'ที่ตั้งกองทัพจีน แหล่งเที่ยวใหม่ขายประวัติศาสตร์ อ่างขาง

'โรงเตี๊ยมถ้ำง๊อบ'ที่ตั้งกองทัพจีน

'โรงเตี๊ยมถ้ำง๊อบ'ที่ตั้งกองทัพจีน แหล่งเที่ยวใหม่ขายประวัติศาสตร์ : คอลัมน์ท่องโลกเกษตร : โดย...วรัทยา ไชยลังกา

               จากที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ ได้เตรียมจัดทำแผนเชื่อมโยงการท่องเที่ยวด่านชายแดนไทย-พม่าทั้ง 3 จุด คือ จุดผ่อนปรนกิ่วผาวอก บ้านอรุโณทัย ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จุดผ่อนปรนบ้านหลักแต่ง ต.เปียงหลวง อ.เวียงแหง และช่องทางบ้านสันต้นดู่ ต.ท่าตอน อ.แม่อาย เป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ 3 ชาติ "ไทย-จีน-ญี่ปุ่น"
                หนึ่งในแผนท่องเที่ยวนี้มี "โรงเตี๊ยมถ้ำง๊อบ" จุดแวะพักของนักท่องเที่ยวระหว่างขึ้นดอยอ่างขาง ปัจจุบัน "ภรณี ชัยศิริ" ลูกสาวคนโตนายพลลีเหวินฮ้วน หรือนายพลลี ผู้นำกองทัพพรรคก๊กมินตั๋งหรือทหารจีน คณะชาติสมัยนั้นเป็นผู้ดูแล โดยสถานที่นี้ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวประวัติศาสตร์ที่ยังคงเรื่องราวในอดีตไว้อย่างครบถ้วน รวมอยู่ด้วย
                "ท่องโลกเกษตร" สัปดาห์นี้ได้มีโอกาสร่วมคณะเจ้าหน้าที่พาณิชย์เชียงใหม่ ลงพื้นที่ไปสัมผัสเรื่องราวของโรงเตี๊ยมแห่งนี้ในบริบทกองบัญชาการกองทัพที่3 ของรัฐบาลจีนคณะชาติเมื่ออดีต ซึ่งปัจจุบันได้แปรสภาพเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ที่ยังคงไว้เรื่องราวในอดีตที่น่าสนใจยิ่ง
                "ภรณี" เล่าให้ฟังว่า อดีตถ้ำง๊อบเป็นที่ตั้งกองบัญชาการกองทัพที่ 3 ของรัฐบาลจีนคณะชาติ เป็นอดีตทหารจีนคณะชาติที่อพยพหนีภัยคอมมิวนิสต์ที่เกิดจากการสู้รบระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์จีนของ "เหมา เจ๋อ ตุง" กับพรรคก๊กมินตั๋งของ "จอมพลเจียง ไค เช๊ค" ซึ่งพรรคก๊กมินตั๋งแพ้สงคราม ต้องถอยร่นไปตั้งหลักแหล่งที่เกาะไต้หวัน อีกส่วนหนึ่งถอยร่นมาทางตอนใต้ของประเทศจีนเข้าสู่ประเทศพม่า และมาสุดทางตั้งรกรากตามแนวตะเข็บชายแดนไทย-พม่า
                "กองทัพที่ 3 และ 5 ในอดีตจะตั้งถิ่นฐานในแนวชายแดนบริเวณ จ.เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ซึ่งกองทัพที่ 3 ของนายพลลี ได้มาตั้งถิ่นฐานบริเวณโรงเตี๊ยมถ้ำง๊อบ บ้านหนองบัว ต.หนองบัว อ.ไชยปราการ พื้นที่โดยรอบจะมีทั้งโรงนอนทหาร ห้องวิทยุ ห้องประชุมเล็ก"
                รวมถึงเป็นที่ตั้งหน่วยงานที่ดูแลม้าและฬอ เนื่องจากยุคก่อนไม่มีถนน การเดินทางต้องเดินด้วยเท้าหรือใช้ม้าและฬอเป็นพาหนะเดินทางและบรรทุกสิ่งของ อีกทั้ง เป็นที่ตั้งโรงเย็บจักรชุดเครื่องแบบทหาร หมวกทหาร ที่บรรจุกระสุนปืนแบบสะพาย ที่เก็บอาหารแห้งแบบสะพาย ขณะเดียวกันยังจัดพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นที่เก็บข้าวสารเลี้ยงทหารทั้งกองทัพและครอบครัว
                ทั้งเป็นที่จองจำของทหารที่ทำผิดกฎกองทัพ มีทั้งคุกไม้สำหรับผู้กระทำผิดสถานเบา คุกใต้ดินสำหรับขับทหารที่กระทำผิดสถานหนัก ที่สำคัญสถานที่นี้ยังเป็นอนุสรณ์สถานของกองทัพที่ 3 เนื่องจากเป็นที่จารึกชื่อทหารกล้าที่เสียสละปกป้องกองทัพและปกป้องผืนแผ่นดินไทยในสมรภูมิรบ ทั้งสมรภูมิรบดอยผาหม่อน ดอยผาตั้ง จ.เชียงราย สมรภูมิรบเขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ และการรบชายแดนไทย-พม่าหลายครั้ง
                "เมื่อสงครามสงบ ทหารจีนทยอยเดินทางกลับประเทศ แต่ก็มีส่วนหนึ่งที่ยังคงอยู่ในหมู่บ้านหนองบัวประมาณ 100-200 หลังคาเรือน ซึ่งมีวัฒนธรรมยูนนานดั้งเดิม ดังนั้น นายพล เลาลี จึงให้ถ้ำง๊อบแห่งนี้เป็นอนุสรณ์สถานให้ประชาชนทั่วไปและนักท่องเที่ยวได้เข้าชม จนถึงปัจจุบันอนุสรณ์สถานแห่งนี้มีอายุกว่า 40 ปีแล้ว"
                "ภรณี" กล่าวอีกว่า ด้วยความสมบูรณ์ของสิ่งปลูกสร้างภายในถ้ำง๊อบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นอาคารเดิมถูกสร้างจากใบจากผ่านกรรมวิธีที่ชาวจียยูนนานเรียกว่า "ทู่จี" หรือบ้านดิน ที่แม้จะถูกเปลี่ยนเป็นหลังคามุงสังกะสีแล้วก็ตาม รวมถึงโรงเก็บข้าวสารที่สร้างจากไม้ทั้งหลัง และคุกไม้ คุกใต้ดิน บรรดาลูกๆของนายพลลี เห็นพ้องต้องกันให้เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ใช้ชื่อ "โรงเตี๊ยมถ้ำง๊อบ" เปิดให้บริการที่พัก ร้านอาหารสำหรับนักท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันเปิดมากว่า 6 ปีแล้ว
                โดยที่นี่จะบริการอาหารเมนูยูนนาน 100% ทั้งไก่ดำตุ๋นตังกวย ขาหมูตุ๋น กระดูกอ่อนตุ๋นเห็ดหอม หมูพันปี ยำสามสี หมั่นโถว หยกดำ และยำโอซุ่น ขณะเดียวกันยังบริการห้องพัก โดยนำโรงนอนของทหารเก่ามาปรับปรุง มีทั้งห้องพัก 2 คน 3-4 คน และสำหรับ 6-10 คน ค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่คนละ 200-250 บาทรวมอาหารเช้า อีกทั้ง มีผลิตภัณฑ์โอท็อปจำหน่าย ทั้งไม้กวาดหญ้าข้างฟ่าง ผลไม้ดองทั้งบ๊วย ลูกไหน เชอรี่ ลิ้นจี่อบแห้ง ตะกร้า ชาจีน ข้าวซอยตัด ยาสมุนไพร ซึ่งเป็นของชาวบ้านในพื้นที่ทั้งหมด
                "ที่ผ่านมาโรงเตี๊ยมจะเปิดให้บริการเฉพาะพฤศจิกายน-มีนาคม หรือปีละ 4 เดือน เนื่องจาก อ.ไชยปราการ ไม่ใช่ทางผ่านของการท่องเที่ยว จะมีเฉพาะนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางขึ้นดอยอ่างขาง และมักจะมาช่วงฤดูหนาว เราจึงเปิดเฉพาะช่วงไฮ-ซีซั่น ทว่า ก็ได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี ลูกค้าเต็มร้านเกือบทุกวัน" ภรณี กล่าว
                อย่างไรก็ตาม แผนเชื่อมโยงการท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ 3 จุดผ่อนปรน หากดำเนินการเป็นรูปธรรมชัดเจน เชื่อจะทำให้บรรยากาศการท่องเที่ยวพื้นที่คึกคักมากขึ้น
                ในส่วนของ "โรงเตี๊ยมถ้ำง๊อบ" ภรณี ชัยศิริ ย้ำจะคงของเดิมที่มีอยู่ในอดีตรวมถึงชูสัญลักษณ์อาหารจีนยูนนาน เพื่อให้สถานที่แห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ดังกล่าว

No comments: