1/19/2014

ไหว้พระ 9 วัด ณ เชียงราย

ไหว้พระ 9 วัด ณ เชียงราย

นมัสการอนุเสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช วัดพระแก้ว วัดพระสิงห์ วัดมิ่งเมือง วัดกลางเวียง วัดเจ็ดยอด วัดเชียงยืน วัดพระธาตุจอมทอง เสาสะดือเมืองเชียงราย
วันนี้วันดีตะลอนทัวร์ทำบุญ 9 วัดในจังหวัดเชียงราย เนื่องในวันคล้ายวันเกิดของคุณชายต่ายน้อยกันค้า เนื่องจากไม่ได้วางแผนว่าจะไปวัดไหนบ้าง และพวกเราไม่ใช่คนพื้นที่ รู้แต่ว่าอยากทำบุญอยากไว้พระขอพรกันซะหน่อย เลยขับรถเข้าเมือง ไปวัดที่เคยไป สอบถามเส้นทางจากคนพื้นที่ และ Search หาข้อมูลใน iphone มีวัดที่ไหนบ้างและขับรถไปตาม GPS ไป เป็นการไปทำบุญที่ไม่มีการวางแผนใดๆเอาซะเลย มีอย่างเดียวที่พร้อมที่สุดคือ “ใจ”
ก่อนที่จะมาได้ลองหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ทพบว่าที่เชียงรายนี้หากจะมีทัวร์จัดไปไหว้พระธาตุต่างๆ ถึง 9 พระธาตุด้วยกัน แต่งานนี้เราขอใกล้ๆ และสะดวกก่อน เลยมุ่งหน้าพร้อมความตั้งใจขับเข้าไปในเมืองเจอวัดไหนจอดวัดนั้นแหละ ^^
“เหนือสุดในสยาม ชายแดนสามแผ่นดิน ถิ่นวัฒนธรรมล้านนา ล้ำค่าพระธาตุดอยตุง” คำขวัญเมืองเชียงราย
สิ่งที่พวกเราได้พบ วัดที่เชียงรายมีความวิจิตร งดงามมาก แต่ละวัดที่ไปสถาปัตยกรรมวัฒนธรรมยิ่งใหญ่ อลังการยิ่ง ดังคำขวัญ ทำให้เห็นถึงสมัยก่อนที่ผ่านมาคนเชียงรายมีความศรัทธากับพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก แค่ในตัวจังหวัดเองยังมีวัดตั้งมากมายแต่ละที่ก็ไม่ได้อยู่ไกลกันเลย แถมแต่ละวัดนั้นก็สวยงามมาก
9 วัด ณ เชียงรายนี้ ใช้เวลาในการเดินทาง ไหว้ นมัสการ และชื่นชมความงดงามของวัด แถมหลงทาง วนรถไปมาตั้งแต่ 11.00 – 16.00 น. ก็ประมาณ 5 ชม. หากวางแผนดีๆ และรู้ทางที่จะไปน่าจะใช้เวลาได้ดีกว่านี้ เนื่องจากวัดแต่ละที่อยู่ในเมืองและไม่ได้ห่างไกลกันมาก

แผนที่ไหว้พระ 9 วัดเชียงราย

**ดูตำแหน่งแผนที่แบบละเอียดเพียงคลิกที่ >>แผนที่<< ในข้อมูลของแต่ละวัด

อนุเสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช

มาที่เชียงราย พลาดไม่ได้กับการมานมัสการขอพร ฝากเนื้อฝากตัว และมาเคารพเจ้าเมืองเชียงรายในอดีต สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองชาวเชียงราย
พ่อขุนเม็งรายมหาราช

ข้อมูลอนุเสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช

ที่ตั้ง : อนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช ประดิษฐานอยู่บริเวณห้าแยกพ่อขุน อ.เมืองเชียงราย >>แผนที่<<
ประวัติ พ่อขุนเม็งรายเป็นโอรสของพญาลาวเม็งแห่งราชวงศ์ลัวะ จังคราช กษัตริย์ผู้ครองเมืองหิรัญนครเงินยางเชียงแสน กับพระนางอั้วมิ่งจอมเมือง ประสูติเมื่อ วันอาทิตย์ แรม 9 ค่ำ เดือนอ้าย ปีกุน เอกศกจุลศักราช 601 ตรงกับพุทธศักราช 1782 และเสด็จสวรรคตที่เมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 1854 รวมพระชนมายุได้ 72 พรรษา พ่อขุนเม็งรายได้สร้างเมืองเชียงรายขึ้นบนดอยทอง จากรากฐานเดิมที่เคยเป็นเมืองมาก่อน เมื่อปี พ.ศ. 1805 ทรงเป็นปฐมกษัตริย์ แห่งราชวงศ์มังราย และรวบรวมบ้านเล็กเมืองน้อยเข้าเป็นอาณาจักรล้านนาไทยจนเจริญรุ่งเรืองจวบจนปัจจุบัน

วัดพระแก้ว

วัดพระแก้ว เชียงราย

ข้อมูลวัดพระแก้ว

วัดพระแก้ว (พระอารามหลวง)
ที่ตั้ง ตั้งอยู่ถนนไตรรัตน์ ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย >>แผนที่<<
ประวัติ วัดพระแก้วเป็นพระอารามหลวงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯยกฐานะจากวัดพระอารามหลวงเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2521 ก่อนที่จะมีชื่อว่า วัดพระแก้ว เดิมเป็นวัดเก่าแก่สร้างในสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐาน บริเวณวัดนี้มีไผ่พันธุ์พื้นเมืองชนิดหนึ่ง คล้ายไผ่สีสุก ไผ่ไม่มีหนาม ซึ่งชาวบ้านนิยมมาทำหน้าไม้และคันธนู ชาวบ้านจึงเรียกว่า วัดป่าเยี้ยะ หรื วัดป่าญะ ต่อมาในปี พ.ศ.1977 ได้มีการค้นพบพระแก้วมรกตในบริเวณวัดนี้ชาวบ้านจึงขนานนามเสียใหม่ว่า “วัดพระแก้ว” ตำนานวัดพระแก้วมรดกตามตำนานโบราณ ได้มีผู้เขียนไว้ภาษ่มคธ ในหนังสือรัตนพิมพวงศ์ว่า มีเทวดาสร้างขึ้นเพื่อถวายพระนาคเสนเถระที่เมืองปาฏลีบุตร (ปัจจุบัน รัฐปัตนะ ประเทศอินเดีย) ต่อมาได้มีการอัญเชิญไปประดิษฐานยังที่ต่างๆ ดังนี้ 1.เกาะลังกา 2.กัมพูชา 3.อินทาปัฐ (นครวัด) 4.กรุงศรีอยุธยา 5.ละโว้ (ลพบุรี) 6. วิชิตปราการ (กำแพงเพชร) 7.เชียงราย (พ.ศ.1934-1979 ประดิษฐาน 45 ปี ) 8.ลำปาง (พ.ศ.1979-2011 ประดิษฐาน 32 ปี ) 9.เชียงใหม่ (พ.ศ.2011-2076 ประดิษฐาน 85) 10.เวียงจันทร์(พ.ศ. 2096-2321 ประดิษฐาน 225ปี) 11.กรุงเทพมหานคร ( พ.ศ.2321-ปัจจุบัน)ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง ได้รับพระราชทานนามว่า “พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร”

พิพิธภัณฑ์ภายในวัดพระแก้ว

พระแก้ว และ พระเจ้าทันใจ

โดยส่วนตัวแอบขอพระเจ้าทันใจหลายครั้งมาหลายแล้ว และหลายอย่างที่ขอก็ทันใจจริงๆ นะคะ ^^
วัดพระแก้ว เชียงราย

วัดพระสิงห์

เนื่องจากวันที่เราไปเป็นวันที่มีการบวชสามเณร ทำให้ไม่ได้เข้าไปในพระอุโบสถได้แต่ไหว้อยู่ด้านนอกและถ่ายรูปและออกมา
วัดพระสิงห์ เชียงราย

ข้อมูลวัดพระสิงห์

วัดพระสิงห์ (พระอารามหลวง)
ที่ตั้ง ตั้งอยู่ถนนทำหลวง ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียราย จังหวัดเชียงราย ด้านข้างติดกับถนนสิงหไคล >>แผนที่<<
ประวัติ
 เป็นวัดโบราณดั้งเดิม สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ามหาพรหมพระอนุชาของพระเจ้ากือนา เจ้าเมืองเชียงใหม่ พระเจ้าพรหมได้มาครองเมืองเชียงราย ระหว่างปี พ.ศ.1888-1942 เคยเป็นที่ประดิษฐานพระสิงห์มาก่อน พระสิงห์เป็นพระนามพระพุทธรูปที่สำคัญองค์หนึ่งแทบจะกล่าวได้ว่าเป็นพระพุทธรูปที่บ่งบอก ได้ถึงพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทอย่างลังกาวงศ์ ตรงกับพระพุทธสิหิงค์ นิยมเรียกว่า พระสิงค์ ท่านผู้รู้บางท่าน ให้ข้อคิดว่า พระสิงห์ หมายถึง พระสิงหวัติ กษัตริย์โบราณ ผู้สร้างเมืองโยนกนครก็มี บางที่อธิบายว่าหมายถึง พระศากยสิงห์ คือ พระบาทหนึ่งของพระพุทธเจ้า

วัดมิ่งเมือง

วัดมิ่งเมือง เชียงราย

ข้อมูลวัดมิ่งเมือง

วัดมิ่งเมือง
ที่ตั้ง ตั้งอยู่ถนนไตรรัตน์ ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ด้านข้างติดถนนบรรพปราการ >>แผนที่<<
ประวัติ วัดมิ่งเมือง ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2513 เป็นวัด ไทใหญ่ สมัยก่อนมีชุมชนไทยใหญ่อยู่เรียกว่า วัดเงี้ยว หรือ วัดช้างมูบ(ช้างมอบ) การก่อสร้างตามชาวบ้านศรัทธาเล่าว่า ผู้สร้างวัดมิ่งเมือง ชื่อ ตะแม่ศรี มีศักดิ์เป็นมเหสีของพ่อขุนฯ เป็นชาวพม่า เวลานี้มีการบูรณะเจดีย์โบราณของวัด พบจารึกบนแผ่นเงินจารึกเป็นภาษาพม่า แปลออกมาเป็นผู้สร้างจากเจดีย์โบราณในวัด ภาษายังมีปรากฏอยู่เป็นศิลปะผสมระหว่างพม่าและล้านนา ที่สำคัญถ้าหากเป็นจริงอย่างจารึก วัดนี้ก็มีอายุเท่ากับเมืองเชียงราย และมีหลักฐานที่สำคัญหลายชิ้นที่บอกว่า เป็นวัดที่ชาวพม่าสร้างไว้ก่อน วัดมิ่งเมืองอยู่ติดกับประตุไก่ดำ เพี้ยนมาเป็นสี่แยกสะพานดำ หรือคนเมืองเชียงราย เรียกสี่แยกขัวดำ ส่วนหลักฐานอื่นถือว่าเป็น วัตถุโบราณของวัดมีบ่อน้ำโบราณ เรียกว่าบ่อน้ำช้างมูบ เป็นศิลปะแบบไทยใหญ่มีซุ้มครอบไว้บนหลังช้างหมอบ ชาวบ้านผ่านไปมาก็เรียกว่าช้างมูบ และเรียกชื่อวัดนี้ว่า “วัดจ้างมูบ”
วัดมิ่งเมืองเป็นวัดเล็กๆ อยู่ใกล้ๆ กับหอนาฬิกาเชียงราย แต่เป็นวัดที่มีประวัติยาวนานและกำลังสร้างอีกอุโบสถอีกหลังด้วย
วัดมิ่งเมือง เชียงราย

วัดเจ็ดยอด

เป็นวัดที่มีประธานองค์ใหญ่ที่งดงามมาก ด้านหลังมีเจดีย์เจ็ดยอดเหมือนชื่อวัด
วัดเจ็ดยอด เชียงราย

ข้อมูลวัดเจ็ดยอด

ที่ตั้ง วัดเจ็ดยอด ถ.เจ็ดยอด ต.เวียง อ.เมือง จ.เชียงราย >>แผนที่<<
ประวัติ
 เป็นวัดเก่าแก่ของเมืองเชียงรายอีกแห่งหนึ่ง สร้างขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2387วัดแห่งนี้ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2481 ประกอบพิธีผูกพัทธสีมา เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2487 ได้รับการยกฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2521 และเป็นที่ตั้งสำนักงานคณะสงฆ์จังหวัดเชียงราย และยังเป็นที่ตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมจังหวัดเชียงรายอีกด้วย

วัดกลางเวียง

วัดกลางเวียง เชียงราย

ข้อมูลวัดกลางเวียง

ที่ตั้ง ตั้งอยู่ถนนอุตรกิจ ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย >>แผนที่<<
ประวัติ วัดกลางเวียง คือวัดที่ตั้งอยู่ใจกลางเวียงเชียงราย ในสมัยที่เรียกกันว่ายุคสถาปนาตั้งแต่ พ.ศ.2386 เป็นต้นมาที่นับเนื่องเช่นนี้มาจากการที่เมืองเชียงรายเคยสร้างมาก่อนเป็นเวลานานกว่าสองร้อยปี และถูกทับถมทำลายโดยธรรมชาติระหว่างที่รกร้างและได้รับการบูรณะใน พ.ศ.2386 เป็นต้นมา เมื่อสร้างกำแพงเมืองเชียงราย พ.ศ.2400 และแล้วเสร็จบริบูรณ์ พ.ศ.2417การเฉลิมฉลองเมืองเชียงราย พ.ศ.2418 ได้มีการเปลี่ยนจากวัดเดิม คือ จันทน์โลกหรือจั๋นต๊ะโลก มาเป็นวัดจันทน์โลกกลางเวียงซึ่งมีที่มาของชื่อกลางเวียงเพราะยุคนั้นวัดจันทน์โลกกลางเวียง คือศูนย์กลางของเวียงเชียงราย เป็นที่ตั้งของ “สะดือเวียงเชียงราย”

วัดเชียงยืน

วัดเชียงยืน เชียงราย

ข้อมูลวัดเชียงยืน

ที่ตั้ง บ้านสันโค้ง ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย 57000 >>แผนที่<<
ประวัติ พระอุโบสถและวิหารที่ทำด้วยศิลาแลง ต.เวียง อ.เมือง จ.เชียงราย (สังกัดมหานิกาย) วัดเชียงยืน ชาวบ้านเรียกอีกนามหนึ่งว่า “วัดสันโค้งหลวง” วัดเชียงยืนนับว่าเป็นวัดที่เก่าแก่ เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ.2410 ตรงกับจุลศักราชปี 1228 และได้รับอนุญาตให้จัดตั้งเป็นวัดที่ถูกต้องตามกฎหมายเมื่อปี 2422 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2489
วัดนี้พวกเราขับตาม GPS เป็นวัดที่อยู่ใกล้ที่สุดณตอนนั้นที่พวกเราขับรถวนเวียนกันอยู่ ซึ่งวันนี้เป็นวันดีที่วัดมีการสมโภชพระครูบาคำหล้า พระที่บำเพ็ญประโยชน์ให้กับวัดและคนเชียงราย

วัดพระธาตุดอยจอมทอง

วัดพระธาตุจอมทอง เชียงราย

ข้อมูลวัดพระธาตุดอยจอมทอง

ที่ตั้ง วัดพระธาตุดอยดอยจอมทอง ตั้งอยู่บ้านจอมทอง หมู่ 1 ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย >>แผนที่<<
ประวัติ พระธาตุดอยจอมทอง เป็นมงคลนามแห่ง เมืองเชียงรายเดิมเป็นวัด เก่าแก่สันนิษฐานว่า มีมาก่อนที่พ่อขุนเม็งรายมหาราชจะมาพบพื้นที่ และสร้างเป็นเมืองเชียงราย ในปี พ.ศ.1805 ตามหลักฐานปรากฏในหนังสือพงศาวดารโยนกของพระยาประชากรจักรกล่าวว่า เมื่อพุทธศาสนาล่วงแล้ว 956 พรรษา มีพระเถระเจ้ารูปหนึ่งนามพระพุทธโฆษา เป็นชาวโกศล เมื่อสุธรรมวดี(สะเทิม) ในรามัญประเทศ ได้ออกไปสู่เมืองลังกาทวีป นำคัมภีร์พระไตรปิฏกแห่งลังกาทวีปมาสู่รามัญประเทศและพุกามประเทศ และเข้ามาสู่แคว้นโยนกนครไชยบุรีศรีเชียงแสน ในวันจันทร์ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 6 ปีชวด มหาศักราชได้ 335 ( พ.ศ.1483 )นำพระบรมสารีริกธาตุสามขนาดมารวม 16 องค์ ถวายแก่พระเจ้าพังคราช เจ้าเมืองดยนกนาคพันธ์ พระองค์ได้แบ่งเป็นพระธาตุขนาดใหญ่หนึ่ง ขนาดกลางสอง รวมสามองค์ส่งให้พญาเรือนแก้ว เจ้าเมืองไชยนารายณ์(บริเวณอำเภอเวียงชัยในปัจจุบัน)ส่วนหนึ่งบรรจุลงในมหาสถูปบนดอยทอง ขนานนามว่าพระธาตุดอยจอมทอง เพื่อเป็นมงคลนามของเมือง

เสาสะดือเมือง เชียงราย

เสาสะดือเมือง เชียงราย

ข้อมูลเสาสะดือเมืองเชียงราย

เสาสะดือเมืองเชียงราย (เสาหลักเมือง)
ที่ตั้ง อยู่บริเวณเดียวกับวัดพระธาตุดอยจอมทอง >>แผนที่<<
เป็นเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ของการก่อตั้งชุมชนและเมือง สำหรับจังหวัดเชียงรายจะเรียกเสาหลักเมืองว่าเสาสะดือเมือง จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุว่า เมื่อครั้งการสร้างเมืองครั้งแรกใช้คำว่า “เสาสะดือเมือง” ไม่ใช้คำว่าเสาหลักเมือง
ประวัติ เสาสะดือเมืองเชียงราย สร้างในรูปแบบศิลปะขอมแบบพนมบาแกง โดยยึดตามรูปแบบสมมติของจักรวาล หันหน้าไปสู่ทิศตะวันออก บริเวณด้านนอกสุดเป็นคูน้ำเหมือนในจักรวาล ลานดินถัดจากคูน้ำหมายถึงแผ่นดิน ลานด้านในยกเป็นชั้นๆ จำนวน 6 ชั้น เปรียบเสมือนสวรรค์ทั้ง 6 ชั้น ในกามภูมิ ประกอบด้วยชั้นจาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามะ ดุสิต นิมมานรตี และปรนิมมิตสวัตตี ตามลำดับ โดยแต่ละชั้นจะมีร่องน้ำคั่นกลาง เหมือนปัญจมหานที ได้แก่ คงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู และมหิ ไหลลดหลั่นกันลงสู่พื้นดิน ชั้นในสุดยกเป็น 3 ชั้น หมายถึงรูปภูมิ อรูปภูมิ และนิพพาน ตัวเสาสะดือเมืองตั้งโดดเด่นดั่งเขาพระสุเมรุอยู่บนฐานสามเหลี่ยมยกพื้นสูง ซึ่งเปรียบเสมือนตรีกูฏบรรพต หรือผา 3 เส้า มีเสาบริวารล้อมรอบจำนวน 108 ต้น โดยตัวเสาสะดือเมืองมีขนาดใหญ่เท่ากับ 5 กำพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ซึ่งเป็นไปตามคติความเชื่อของล้านนาโบราณที่จะต้องสร้างเสาสะดือเมืองให้มีขนาดใหญ่เท่ากับ 5 กำพระหัตถ์ และมีความสูงเท่ากับส่วนสูงของพระวรกายของพระมหากษัตริย์

วัดศรีบุญเรือง

วัดศรีบุญเรือง เชียงราย

ข้อมูลวัดศรีบุญเรือง

ที่ตั้ง ตั้งอยู่ถนนสิงหไคล หมุ่ที่ 3 ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย >>แผนที่<<
ประวัติ เป็นวัดเก่าวัดหนึ่ง สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ.1982 ต่อมาเป็นวัดร้าง เมื่อคุ้มเจ้าหลวงได้เปลี่ยนสภาพไปเป็นโรงเรียนดำรงราษฏสงเคราะห์ วัดเชียงหมั้นซึ่งอยู่ในคุ้มหลวง จึงย้ายสิ่งของพร้อมทั้งประธาน มาไว้ที่วัดศรีบุญเรือง วัดนี้ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2489 อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย อุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์หอฉัน หอระฆัง ศาลาพักร้อน
เชียงรายเป็นเมืองที่วัดเยอะจริงๆ เนี่ยขนาดไม่มีข้อมูลอะไรเลย ขับๆไป ถามข้อมูลคนพื้นที่ไปก็ไปไหว้ได้ตั้ง 9 ที่ใหญ่ๆ ศิลปวัฒนธรรมก็สวยงาม เข้าไปรู้สึกได้ถึงความร่มเย็น ความศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนา ที่สำคัญพวกเราได้มาที่สำคัญๆ ในโอกาสสำคัญๆ แบบนี้ดีจริงๆ วันเกิดคุณชายต่ายน้อยในปีนี้ก็ขอให้คุณชายมีความสุขมากๆ สุขภาพร่างกายแข็งแรง การงานดี การเงินเด่น คิดอะไรก็ขอให้สมปรารถนาทุกประการ ดููแลกันและกัน เป็นต่ายน้อยที่น่ารักแบบนี้ตลอดไปนะคะ (^/|\^)

แกลอรี่รูปไหว้พระ 9 วัด ณ เชียงราย

ข้อมูลวัดอ้างอิงจาก chiangrai.net

No comments: